วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

กำเนิดชุมชน ภูมิหลัง และการตั้งบ้านเรือน


เมื่อแรกเริ่มในอดีตกว่า 150 ปี ชาวบ้านจำรุงอพยพมาจากทางแถบชายทะเล บ้านถนนกะเพรา ตำบลเนินฆ้อ เพื่อหาที่อยู่อาศัยอันอุดมสมบูรณ์ ถัดจากบริเวณชายทะเลเดิมประมาณ 7 กิโลเมตร เข้ามาสู่ป่าดิบ หักร้างถางพงจนเป็นบริเวณที่อยู่อาศัย ซึ่งก็คือบริเวณหน้าวัดจำรุงในปัจจุบันนี้ บ้านจำรุงเป็นชื่อที่เรียกเพี้ยนมาจากคำว่า “จำรุ” เป็นภาษาถิ่นของคนชอง หมายถึง ปากทางน้ำไหลลงทุ่ง หรือบึง เพราะที่ดินบริเวณนี้มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม จึงมีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี ลักษณะพื้นที่เช่นนี้จึงเหมาะแก่การทำนา ทำร่องสวนผลไม้ และยางพารา มีทั้งดินเหนียวสีดำในทุ่งนา ทำนาได้ผลดี ดินสีแดงมันปูก็เหมาะแก่การปลูกผลไม้และยางพารา ดังนั้นเมื่อเปลี่ยนป่าให้เป็นบ้าน เปลี่ยนบึงให้เป็นเรีอกสวนไร่นา สวนผลไม้และยางพาราจึงผุดขึ้นเป็นจำนวนมากทั่วทั้งชุมชน กลายเป็นรายได้หลักของชาวบ้าน

คุณลุงสำเริง ดีนาน ชาวสวนยาง วัยกลางคน ร่างเล็ก ท่าทางใจดีคนหนึ่ง เล่าให้เราฟังว่า “ยางต้นหนึ่ง แทนคุณไปได้หลายสิบปี กว่าน้ำยางจะหมด หมดแล้วก็ยังเอาต้นไปขายได้อีก”

ต้นยางพาราสูงชะลูดเรียงเป็นแนวเหล่านี้นับเป็นมูลค่ามหาศาลในช่วงที่ยางขายได้ราคาดี แต่ชาวบ้านก็ไม่นิ่งนอนใจในราคายางที่ขึ้นลงเหมือนหุ้น ชาวสวนยางบ้านจำรุงมีหลักประกันความเสี่ยงที่ดีจากการรวมกลุ่ม รวมซื้อรวมขายยางพารา เช่นเดียวกับชาวสวนผลไม้ซึ่งบางคนก็เป็นกลุ่มเดียวกับชาวสวนยางมีการรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มชาวสวนในชุมชน รวมกันซื้อขายให้ได้ราคาที่ทั้งสองฝ่ายพึงพอใจ การได้จำหน่ายผลผลิตที่ดี ราคาเหมาะสมก็เป็นความภาคภูมิใจของชาวสวน เพราะฉะนั้นเราจึงไม่แปลกใจเลย เมื่อทุกครั้งที่ฟังพวกเขาเล่าถึงผลไม้และต้นยาง พวกเขาเล่าถึงสิ่งเหล่านั้นด้วยสีหน้าที่ภาคภูมิใจ เหมือนพ่อที่ภูมิใจในความสำเร็จของลูก

นอกจากผลไม้และยางพาราแล้ว หลายครอบครัวในบ้านจำรุงมีการปลูกและกินผักพื้นบ้านกันทั่วไป ผักบางชนิดอย่าว่าแต่เคยเห็นหรือไม่เลย แค่ชื่อเราก็ยังไม่เคยได้ยินผ่านหู แต่ที่บ้านจำรุงนี้มีผักพื้นบ้านให้เราลองกินมากกว่า 20 ชนิด ไม่ว่าจะเป็นใบบัวบก ข่าแดง ยอดมัน ผักแว่น ผักหวาน ผักขม ดอกจอก ไพล ถั่วพู และอีกนานาชนิดที่ไม่รู้จักชื่อ รวมทั้งได้ความรู้ใหม่ว่าดอกอัญชันที่เราชอบเอามาขยี้เล่นให้มีสีสวยๆ ออกมา ไม่ใช่แค่เอาไว้ทำเป็นสีผสมอาหารเท่านั้น แต่ดอกอัญชัญนำมารับประทานสด ๆ ได้ด้วย เห็นผักพื้นบ้านหลากหลายชนิดในจานที่ชาวบ้านยกมาให้ทานตรงหน้าแล้ว เราก็เริ่มรู้สึกสุขภาพดีขึ้นมาทันที

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น