วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2555

ศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติบ้านจำรุง ลุงสำเริง ดีนาน หรือลุงขลุ่ย เล่าให้ฟังว่า “ เกษตรกรรุ่นใหม่มักเข้าใจว่าต้นไม้ไม่ฉลาด ต้องจัดการเรื่องอาหารการกินให้กับเขา” ซึ่งการจัดการมีหลายวิธีเช่น ใส่ปุ๋ยเคมีบ้าง พ่นสารเคมีบ้าง ใช้ฮอร์โมนเปิดตาดอก ใช้สารเร่งต่าง ๆ ฯ เพื่อจะได้ขายนอกฤดู ทั้งหลายทั้งปวง ต้องสูญเสียเงินตรามหาศาลเพื่อให้ได้ผลผลิตตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่ปรากฏว่ายิ่งทำยิ่งแย่ เสียทั้งสุขภาพ เสียทั้งเงิน เกษตรกรไทยส่วนใหญ่จึงตกเป็นเครื่องมือให้กับพ่อค้าสารเคมีและนักวิชาการบางคนที่เห็นประโยชน์ตนมากว่าประโยชน์สาธารณะ ลุงสำเริง ดีนาน จึงรวบรวมความคิดและประสบการณ์การทำเกษตรอินทรีย์ไร้สารเคมี ชักชวนผู้คนได้กลุ่มหนึ่ง ลุกขึ้นมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงแนวทางการทำเกษตรธรรมชาติเพื่อพึ่งตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีเป้าหมายว่าคนกินสุขภาพดี คนผลิตห่างไกลจากสารเคมี โดยเริ่มต้นพบปะพูดคุยกันที่มหาวิทยาลัยบ้านนอก และได้พัฒนาพื้นที่ด้านหลังมหาวิทยาลัยบ้านนอกเป็น ศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติบ้านจำรุง โดยใช้แนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่เป็นแนวทางการทำงาน “ทำเกษตรอินทรีย์เพื่อพึ่งพาตนเอง ต้องใจเย็น ค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะการต่อสู้ทางความคิดของตนเอง เมื่อผ่านความคิดของตนเองได้แล้วจึงค่อยขยายผลไปยังเพื่อนบ้าน จากนั้นจึงรวมกันเป็นกลุ่มและเป็นเครือข่ายองค์กรชุมชนในช่วงเวลาต่อมา ” ลุงสำเริง ดีนาน พูดด้วยน้ำเสียงที่เชื่อมั่น และเพื่อให้ทุกขั้นตอนสามารถปรับตัวสู่ระบบธรรมชาติที่สมดุล มีการจัดองค์ประกอบว่าด้วยงานฟื้นฟูทรัพยากร คน ดิน น้ำ ป่า ผ่านกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่ของตำบลเนินฆ้อ มีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับเครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง สภาองค์กรชุมชนตำบลเนินฆ้อ องค์กรปกครองท้องถิ่น เริ่มต้นด้วยการจัดการความรู้วิถีเกษตรธรรมชาติ ผ่านงานของ มหาวิทยาลัยบ้านนอก ด้วยการนำประสบการณ์ของสมาชิกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเป็นประจำที่ ศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติ ภายในมหาวิทยาลัยบ้านนอก ตั้งแต่ต้นทางการผลิตจนถึงครัวของผู้บริโภค เป็นกระบวนการเรียนรู้แบบภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยระยะเวลาในการเรียนรู้มากกว่า ๒๕ ปี จึงทำให้เกิดชุดความรู้ในนามของมหาวิทยาลัยบ้านนอกในที่สุด
เพื่อให้การจัดการศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติมีความสมดุลมากขึ้น จึงต้องเชื่อมโยงการทำงานกันทั้งระบบ มีการชักชวนสมาชิกส่วนหนึ่งไปก่อตั้งกลุ่มธนาคารต้นไม้ นำแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่บอกกับทุกคนเรื่องไม้สามอย่าง ประโยชน์สี่อย่าง “ไม้กินได้ ไม้โตเร็ว ไม้เศรษฐกิจ ไม้ทั้งสามประเภทปลูกในแผ่นดินไหน แผ่นดินนั้นมีความมั่นคง เพราะจะเกิดปัจจัยพื้นฐานในการดำเนินชีวิต ๔ เรื่อง คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า ยารักษาโรค “ ลุงสำเริงพูดเน้นย้ำทางความคิดให้กับทุกคน เมื่อรวมกลุ่มในการผลิตแล้ว จึงเดินหน้าสร้างกลไกการตลาดร่วมกัน เพราะผลผลิตจากเกษตรธรรมชาติผิวไม่สวย พ่อค้าคนกลางมักไม่ซื้อหรือถ้าซื้อมักให้ราคาต่ำมาก
“ต้องทำให้กลไกการผลิตกับกลไกการตลาดยืนติดกันให้ได้เพื่อความมั่นใจในการเดินบนเส้นทางเกษตรธรรมชาติพึ่งตนเอง” ลุงสำเริง กล่าวกับสมาชิกในวันประชุมประจำเดือนของเครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง กลุ่มแปรรูปผลผลิต จึงสานแนวคิดของลุงสำเริง เรื่องการนำผลผลิตไปแปรรูป เท่าที่มีภูมิปัญญาในท้องถิ่น “ทุเรียนราคาถูกเราทอด มังคุดถูกเรากวน กล้วยไม่มีราคาเราทำกล้วยกรอบแก้ว “กลุ่มแปรรูปผลลิตเรียนรู้การแปรรูปผลผลิตการเกษตรทุกตัว “หาเคยจากทะเล ทำกะปิ หาปลาหัวอ่อนมาทำน้ำปลา ร่วมกันคิด ระดมทุน ร่วมกันทำ เพื่อการพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น” กลุ่มแปรรูปกะปิน้ำปลาบ้านจำรุง เล่าถึงกระบวนการจัดการกลุ่ม โอทอปโบราณ เป็นแนวคิดของลุงสำเริง ดีนาน ที่ต้องการสร้างชื่อให้กับสินค้าในชุมชน ซึ่งในกระบวนการผลิตต้องไม่ใช้สารเคมี ตลาดเครือข่ายแปรรูปผลิต ที่มหาวิทยาลัยบ้านนอกบ้านจำรุง จึงมีผลิตภัณฑ์ ที่ได้รับการรับรองจากเครือข่ายองค์กรชุมชนให้เป็น โอทอบโบราณ ของที่นี่ “โอทอปโบราณ ต้องไม่ใช้สารเคมีในทุกขั้นตอนการผลิต ต้องเห็นคนกินเป็นพ่อ แม่” ลุงสำเริง บอกกับทุกคนด้วยแววตาที่มุ่งมั่น “มังคุดยิ้ม เงาะหัวเราะ ทุเรียนสบายใจ ลองกองหวานอร่อย ผักพื้นบ้านปลื้ม ฯ “ เป็นสิ่งที่ลุงสำเริง สัมผัสได้จากการเลิกใช้สารเคมีและกลายเป็นโอทอปโบราณในที่สุด การเชื่อมโยงการทำงานระหว่างกลุ่มที่ผลิต เช่นกลุ่มเกษตรพื้นบ้าน กลุ่มแปรรูปกะปิ น้ำปลา กลุ่มแปรรูปผลผลิตจากทุเรียน มังคุด กล้วย ผลไม้อื่น ๆ กลุ่มรวมซื้อรวมขายยางพารา กลุ่มธนาคารปูแสม กลุ่มบ้านปลาธนาคารปู กลุ่มแปะหอย กลุ่มตีมีดกรีดยางพารา กับ กลุ่มงานอื่น ๆ เช่น กลุ่มร้านค้าพอเพียง กลุ่มธนาคารชุมชน กลุ่มธนาคารชุมชน วัฒนธรรมท้องถิ่น กลุ่มกองทัพมด ตลาดเครือข่ายแปรรูป เครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง มหาวิทยาลัยบ้านนอก ฯ นับเป็นกระบวนการที่จะพาสมาชิกของทุกกลุ่ม เดินไปสู่เป้าหมายของชีวิต ที่มองเรื่องความมั่นคงของตนเองและสังคมให้ไปพร้อม ๆ กัน “การรวมตัวกันเป็นกลุ่ม ทำให้คนเล็กคนน้อยเป็นประชาชนเต็มขั้น” เป็นการสร้างโอกาสการทำมาหากินที่ยั่งยืนผ่านพื้นที่ของศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติบ้านจำรุง ” ลุงสำเริงเล่าให้ฟัง “การนำหลาย ๆ กลุ่มมาเชื่อมโยงการทำงานเพื่อให้เห็นเป้าหมายร่วมเป็นการสร้างประชาชนให้เป็นพลเมือง มีความจำเป็นอย่างยิ่ง” เพราะเป็นการทำงานที่มั่นคง ยั่งยืน ลุงสำเริงกล่าวต่อ พื้นที่งานเล็ก ๆ ที่ศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติ กำลังทำหน้าที่สำคัญให้กับสังคมไทย มีความมั่นใจในวิถีเกษตรพึ่งตนเอง สร้างกลไกการผลิตกับกลไกการตลาดใกล้บ้านตัวอย่าง มีกระบวนการแปรรูปที่ชัดเจน ผลิตภันฑ์ชุมชนที่ไม่ใช้สารเคมี ที่เรียกกันติดปากว่าโอทอปโบราณ สามารถสร้างรายได้มหาศาลให้กับกลุ่มเกษตรกร ชีวิตชุมชนท้องถิ่นที่ศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติ บ้านจำรุง คึกคักและมีชีวิตชีวา ด้วยการเดินทางของผู้คนที่สนใจการรวมตัวของชาวบ้านตัวเล็กที่แทบไม่มีพลังทางสังคม มาร่วมเรียนรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น แนะนำ พูดคุยกัน ลุงสำเริง ดีนาน ได้รับการยอมรับในสังคมวงกว้างมากขึ้น เกิดพลังใจในการขับเคลื่อนงานเกษตรธรรมชาติเพื่อสังคม “ไม่เคยล้มเหลว เพียงแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่านั้น” ลุง สำเริง ดีนาน ให้กำลังใจกับทุกคนที่เริ่มต้นในการทำงานเพื่อสังคม ศูนย์ประสานงาน สถาบันเรียนรู้วิถีเศรษฐกิจพอเพียงมหาวิทยาลัยบ้านนอก เครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง สภาองค์กรชุมชนตำบลเนินฆ้อ www. Banjumrung.org โทรศัพท์ ๐๘๗๘๑๗๘๐๓๐ โทรสาร ๐๓๘๖๗๐๗๒๑ Email.chartchai04@gmail.com

วันพุธที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2555

ร้านพอเพียง ซื้อเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เป็นร้านขายของชำเล็ก ๆ ตั้งอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยบ้านนอกแห่งบ้านจำรุง มีสินค้าพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตทุกอย่าง เมื่อมองเข้าไปในบริเวณร้าน แทบจะไม่เห็นสินค้าอะไรมากมายนัก เพราะสินค้าส่วนใหญ่อยู่ในโอ่งและมีฝาปิด แต่...ที่นี่มียอดขายปีละร่วม ๒ ล้านบาท ที่สำคัญร้านนี้ไม่มีพนักงานขายสินค้า ต้องซื้อเอง ทอนเงินเอง มันเกิดอะไรขึ้น ไม่น่าเป็นไปได้
จากแนวคิดของคณะทำงานเครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง ที่จะนำพาชีวิตของสมาชิกไปสู่ความมั่นคง พึ่งพาตนเองได้บนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงควรมีร้านค้าของทุกคน สัก หนึ่งร้าน ที่มีสินค้าราคาถูก ทุกคนเป็นเจ้าของร่วม และเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคนไปสู่ความเป็นพลเมือง เวทีประจำเดือนของเครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง เริ่มออกแบบ โดยชวนสมาชิกและกลุ่มองค์กร มาถือหุ้น หุ้นละ ๑๐๐ บาท เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม มีนายสำเริง ดีนาน ทำหน้าที่จัดหาสินค้าจำเป็นพื้นฐานมาวางในร้านพอเพียง จัดสร้างโรงเรือนร้านค้าภายในมหาวิทยาลัยบ้านนอก ทุกอย่างลงตัวเริ่มมีการซื้อขายสินค้าตามแนวทางที่ตกลงกันไว้ ในทุก ๆ เดือนมีการบอกเล่าความก้าวหน้าของร้านพอเพียงเป็นระยะ ๆ “ กิจกรรมโครงการที่โดดเด่นมีอะไรบ้าง ” นักเดินทางที่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานพัฒนากับเรา ที่มหาวิทยาลัยบ้านนอก มักถามทุกครั้ง เราจะตอบว่า “ ร้านพอเพียง ซื้อเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ” เป็นคำตอบที่เราภูมิใจ ศูนย์ประสานงาน เครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง มหาวิทยาลัยบ้านนอก สภาองค์กรชุมชนตำบลเนินฆ้อ www. banjumrung.org โทรศัพท์ ๐๘๗๘๑๗๘๐๓๐ โทรสาร ๐๓๘๖๗๐๗๒๑