วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

มหาวิทยาลัยบ้านนอก (มุมมองของสื่อ)

มหาวิทยาลับ้านนอก บ้านจำรุง

ขณะที่หลายคนดิ้นรนจะมาเรียนมหา วิทยาลัยชื่อดังในกรุงเทพฯ แต่ชาวบ้าน จำรุง ต.เนินฆ้อ อ.แกลง จ.ระยอง กลับภูมิใจกับ "มหาวิทยาลัยบ้านนอก" ที่พวกเขาชาวไร่ชาวนาช่วยกันตั้งขึ้น
เพื่อเป็นพื้นที่เรียนรู้การเกษตร และวิถีชีวิตที่พึ่งพาตนเองตามธรรมชาติ ในแบบฉบับชาวบ้านแท้ๆ และพัฒนาจนโด่งดัง จนแต่ละวันมีผู้เดินทางมาศึกษาดูงานไม่ต่ำกว่าพันคน
ภายในมหาวิทยาลัยบ้านนอก ประกอบด้วยศูนย์รวมผลผลิตทางการเกษตร คือสินค้าของฝาก โอท็อปโบราณ ได้แก่ น้ำพริกกะปิ น้ำปลาดีชั้นหนึ่ง ทุเรียนทอด พืชผัก สมุนไพรพื้นบ้าน รวมทั้งผลไม้ทั้งมังคุด เงาะ สละ แก้วมังกร มะยงชิด ลองกองที่ผิวไม่สวยแต่หวานกรอบ และปราศจากสารเคมี
ทั้งยังมีแหล่งผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ที่ชาวบ้านร่วมมือกันผลิตใช้เองในหมู่บ้าน แบ่งการศึกษาเป็นโซนต่างๆ เช่น กลุ่มผลิตกะปิ-น้ำปลา กลุ่มเกษตรพื้นบ้าน กลุ่มชาวนา เป็นต้น เพื่อสะดวกต่อการเผยแพร่ให้ความรู้กับผู้มาเยือน
นายมานพ กว้างขวาง หรือ "ลุงใจ" สมาชิกสภาเทศบาลตำบลเนินฆ้อ หนึ่งในคณะทำงานเครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง เล่าจุดเริ่มต้นว่า บ้านจำรุงเป็นหมู่บ้านเล็กๆ สมาชิกเหมือนเป็นคนครอบครัวเดียวกันทั้งหมด แต่เดิมมีลุงสำเริง ดีนาน เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง "โอท็อปโบราณ" ก่อนจะพัฒนาเป็นศูนย์โอท็อปชาวบ้าน นำสินค้าผลผลิตทางการเกษตรในชุมชนมาขาย
นอกจากนี้ ยังเปิดแหล่งท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ มีรถพาชมสวน ได้ทั้งการพักผ่อนใกล้ชิดธรรมชาติ และความรู้จากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแบบชาวบ้าน ทั้งเกษตรพื้นบ้านไร้สารเคมี เกษตรธรรมชาติกองทัพมด เป็นตัวอย่างนำกลับไปใช้ได้จริง
โดยเริ่มลงมือทำตั้งแต่ปีพ.ศ.2529 กระทั่งมีผลงานเป็นรูปธรรม ด้วยความร่วมมือของชาวบ้านที่เข้มแข็ง จากที่ประชุมกันในครัวเรือน กลายเป็นเครือข่ายองค์กรบ้านจำรุง ที่มีการประชุมร่วมกันทุกวันที่ 15 ของเดือน เป็นเวทีสาธารณะ หรือเวทีชาวบ้าน ที่มีทั้งเด็ก เยาวชน และคนแก่ เข้าร่วม
ต่อมาปี พ.ศ.2549 จึงจัดตั้งเป็น "มหาวิทยาลัยบ้านนอก" เพื่อการเรียนรู้ของสังคม กระทั่งได้รับรางวัล "หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงอยู่เย็นเป็นสุข" จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
จากนั้นก็มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาศึกษาหาความรู้กันอย่างไม่ขาดสาย เป็นสิ่งที่ชาวบ้านภาคภูมิใจ
ด้าน นายชื่น ดีนาน อายุ 52 ปี คณะทำงานเครือข่ายอีกคนหนึ่ง ร่วมอธิบายว่า ความไว้เนื้อเชื่อใจกันของชาวบ้านจำรุงเป็นสิ่งสำคัญ ไว้ใจกันแค่ไหนนั้น เห็นได้จากการวางกระปุกเงินไว้ให้คนในชุมชน ที่ต้องการซื้อข้าวของขณะที่คนขายไปธุระ เพียงแค่เห็นราคาที่ติดไว้ก็ให้หยิบไปได้ แต่ต้องหยอดเงินใส่กระปุกตามราคาของ ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่มีใครลักขโมยสินค้าแต่อย่างใด บ้างอาจหยอดเกินจำนวนด้วยซ้ำ ถือว่าเป็นการช่วยเหลือ เพื่อนำเงินมาสนับสนุนการพัฒนาศูนย์เรียนรู้เครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง มหาวิทยาลัยบ้านนอก
ปี พ.ศ.2546 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ได้เข้ามาช่วยเหลือด้านงบประมาณในการจัดกิจกรรมของชาวบ้านจำรุง และปีที่ผ่านมายังได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากจังหวัดระยอง ในการก่อสร้างโรงเรือนเรียกว่า "ธนาคารต้นไม้"
เพื่อเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้เรื่องพืชเศรษฐกิจ อาทิ ต้นมังคุด ต้นมะยงชิด กล้ายาง ต้นกระวาน และพืชสมุนไพรต่างๆ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถหาซื้อได้ หรือถ้าต้องการต้นกล้าจำนวนมากก็สั่งจองได้ในราคาย่อมเยาว์
นายชื่นบอกเคล็ดลับว่า ความสำเร็จของมหาวิทยาลัยบ้านนอกในวันนี้ เป็นผลจากการที่ชาวบ้านจำรุงดำเนินชีวิตบนวิถีเกษตรแบบพึ่งตนเอง เคารพธรรมชาติ รู้จักใช้ธรรม ชาติอย่างพอเพียง ไม่ขาดไม่เกินจนล้น บวกกับความ เชื่อที่ว่า ต้องยืนบนลำแข้งตัวเองให้ได้ ก่อนที่จะยื่นมือขอให้ใครเข้ามาช่วย เพราะเมื่อเข้มแข็งแล้ว ทางหน่วยงานก็จะเข้ามาส่งเสริมเอง
"แบบฉบับของบ้านจำรุงคือ คน ดิน น้ำ ป่า เป็นทรัพยากรสำคัญที่มีอยู่แล้ว คำว่าคนของที่นี่ คือความเชื่อใจกัน เคารพซึ่งกันและกัน ตั้งมั่นอยู่บนรากฐานของความมีคุณธรรม จริยธรรม และจิตสำนึกที่ดีร่วมกัน" ลุงใจกล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผู้ที่สนใจศึกษา เรียนรู้วิถีชุมชนบ้านจำรุง (มหาวิทยาลัยบ้านนอก) สามารถติดต่อไปที่ศูนย์ประสานงาน เครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง หมู่ 7 ต.เนินฆ้อ อ.แกลง จ.ระยอง หรือเข้าดูข้อมูลที่ www.banjumrung.org หรืออีเมล์ chartchai04@gmail.com

หลักคิดการทำงานของมหาวิทยาลัยบ้านนอก แห่งบ้านจำรุง

หลักคิดการทำงานของมหาวิทยาลัยบ้านนอก แห่งบ้านจำรุง

“ด้วยศรัทธาและเชื่อมั่นในหลัก ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งพวกเราแปลว่า หลักแห่งการพึ่งพาตนเอง พวกเราเชื่อในทุกพระราชดำรัส และได้ช่วยกันแปลงสู่การปฏิบัติ ทำไปเรียนรู้ไป ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่ที่เราอยู่ เริ่มจากเล็กไปหาใหญ่ ง่ายไปหายาก
ช่วยกันคิดช่วยกันบอก จึงทำให้เราค่อย ๆ พึ่งพากันได้มากขึ้น มีความมั่นคงและมั่นใจในการดำเนินชีวิต คาดหวังว่า ถ้าคนไทยทุกคนจะน้อมนำหลัก ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไปใช้ในชีวิตประจำวัน จนเป็นวิถีของตนเองแล้ว ความอยู่เย็นเป็นสุข จะเกิดกับครอบครัว ชุมชน ประเทศชาติในที่สุด"

มหาวิทยาลัยบ้านนอกแห่งบ้านจำรุง ๑ มกราคม ๒๕๕๓

การเมืองภาคพลเมือง

การเมืองภาคพลเมือง หมายถึงการที่ประชาชน

• ได้เข้าไปมีบทบาท ส่วนร่วมในกิจกรรมและกระบวนการทางการเมือง เพื่อการกำหนดแผนงาน การผลักดันนโยบายสาธารณะต่อสังคม
• มีส่วนร่วมในการตัดสินใจขององค์กรทางการเมือง และ ระบบราชการ ในทุกระดับ
• ส่วนร่วมในการตรวจสอบการดำเนินการทั้งในการเมืองและงานสาธารณะ
• ได้การดำเนินกิจกรรม ที่เป็นผลต่อการกระตุ้น การส่งเสริมให้ เกิดความตระหนักและกระตือรือร้น ที่จะเข้าไปมีบทบาท ในกระบวนการดังกล่าว
๑. การเข้าไปมีบทบาท / ส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง ต้องมีเป้าประสงค์ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
๒.กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ หมายถึงกิจกรรมทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง กิจกรรมที่ปกติถือว่าเป็นหน้าที่ของรัฐ แต่รัฐยังทำหน้าที่ได้ไม่ครบถ้วน เป็นกิจกรรมที่ยังหาเจ้าภาพที่แท้จริงมิได้ กลุ่ม องค์กร เครือข่าย จึงรวมตัวกันดำเนินกิจกรรมตามลำพังหรือร่วมกับภาคีอื่น ๆ หรือร่วมกับองค์กรภาครัฐก็ได้
๓.การดำเนินกิจกรรมของ กลุ่ม องค์กร เครือข่าย ต้องมีลักษณะที่ต่อเนื่องเป็นที่รับรู้ของสังคม การบริหารงานของกลุ่ม องค์กร เครือข่าย ต้องให้สมาชิกมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับประโยชน์ และตัดสินใจร่วมกัน ภายใต้วิถีวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่น
การเมืองภาคพลเมือง จึงเป็นเรื่องของทุกคนที่พร้อมแสดงออกทางความคิด การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ต่อสาธารณะ และสุดท้ายพลังของพลเมืองจึงกำหนดชะตาชีวิตของตนเองได้ด้วยตนเอง
สำนึกพลเมืองจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่คุณมีจิตสาธารณะ และเมื่อได้ลงมือปฏิบัติในหน้าที่ของพลเมืองด้วยแล้ว สังคมจะอยู่เย็นเป็นสุขด้วยมือคุณทันที
ชาติชาย เหลืองเจริญ มหาวิทยาลัยบ้านนอก ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๓
หมายเหตุ เป็นการรวมรวบ รับฟังผู้รู้จากพื้นที่ปฏิบัติการจริง นำมาเรียบเรียงเพิ่มเติมเพื่อที่จะเรียนรู้ร่วมกันต่อไป

สภาองค์กรชุมชนตำบลเนินฆ้อ ระยอง

สภาองค์กรชุมชนตำบลเนินฆ้อ
เป็นองค์กรภาคประชาชน ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ สภาองค์กรชุมชน พุทธศักราช ๒๕๕๑ โดยมุ่งหวังว่าจะให้ภาคประชาชนใช้เป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับขบวนองค์กรชุมชน เริ่มตั้งแต่ระดับตัวบุคคล กลุ่ม เครือข่าย หมู่บ้าน ชุมชนท้องถิ่น ตำบล จังหวัดและระดับชาติ และสามารถพึ่งพาตนเองได้ในที่สุด
สภาองค์กรชุมชนตำบลเนินฆ้อ จดแจ้งจัดตั้งเมื่อ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ได้รับการรับรองจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลำดับเลขที่ ๒๑๐๐๑ เมื่อ วันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๑ และได้ยกระดับงานพัฒนาของเครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง สู่การขับเคลื่อนงานของสภาองค์กรชุมชนตำบลเนินฆ้อ ตามภารกิจในมาตรา ๒๑
ด้วยรูปแบบการทำงาน แบบภาคประชาชน จึงทำให้สามารถต่อยอดการทำงานของเครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุงได้เป็นอย่างดี ต่อยอดทางความคิดที่มุ่งเน้นพา สังคมไปสู่ความอยู่เย็นเป็นสุข ชีวิตมั่นคง พึ่งพาตนเองได้ บนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กับภารกิจฟื้นฟูทรัพยากร คน ดิน น้ำ ป่า โดยมี ๔๔ กลุ่มกิจกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนงาน
ตลอดสามปีของการทำงานในรูปแบบของสภาองค์กรชุมชนตำบลเนินฆ้อ มีศูนย์ประสานงานอยู่ในที่ดินของตนเอง มีเวทีปรึกษาหารือกันอย่างต่อเนื่องของผู้แทนกลุ่มกิจกรรมและผู้สนใจในทุกวันที่ ๑๕ ของเดือน สมาชิกของกลุ่มมีรายได้เพิ่มขึ้น รายจ่ายลดลง ด้วยแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ จนเกิดชุดความรู้งานพัฒนาแบบชาวบ้าน และกำลังยกระดับการทำงานแบบภาคพลเมือง ที่มีมุมมองและข้อเสนอเชิงนโยบายที่มาจากประสบการณ์ตรงของผู้คนในพื้นที่ปฏิบัติการ
ด้วยศรัทธาและเชื่อมั่นในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยประสบการณ์ของปราชญ์ชุมชนและผู้รู้จากทุกภาคส่วน และการประสานความร่วมมือของทุกภาคีที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้ สภาองค์กรชุมชนตำบลเนินฆ้อ เป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง

ศูนย์ประสานงาน มหาวิทยาลัยบ้านนอก เครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง สภาองค์กรชุมชนตำบลเนินฆ้อ ๐๘๗๘๑๗๘๐๓๐

น้ำพริกกะปิที่มหาวิทยาลัยบ้านนอก บ้านจำรุง

น้ำพริกกะปิบ้านจำรุง
ปี ๒๕๔๕ กลุ่มงานเกษตรพื้นบ้าน รวมตัวกันเพื่อขับเคลื่อนงานเกษตรอินทรีย์ มีการลดละเลิกการใช้สารเคมี และยาฆ่าหญ้า จึงทำให้มีผักพื้นบ้านปลอดสารเคมีกินตลอดทั้งปี
“ผักพื้นบ้านต้องกินกับน้ำพริกกะปิ” สมาชิกของเครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุงพูดขึ้นมาระหว่างการประชุมประจำเดือน กลุ่มผลิตอาหารจึงรับแนวคิดและข้อเสนอของกลุ่มเกษตรพื้นบ้าน ไปทำน้ำพริกกะปิขึ้นมาเพื่อกินกับผักอินทรีย์ที่กลุ่มเกษตรพื้นบ้านผลิต
ทุก ๆ วันที่มีคนเดินทางไปศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่มหาวิทยาลัยบ้านนอกแห่งบ้านจำรุง กลุ่มอาหารจึงรับผักพื้นบ้านปลอดสารเคมีมาปรุงเป็นอาหารเพื่อกินกับ น้ำพริกกะปิ ต้อนรับนักเดินทาง ปรากฏว่าได้รับการยอมรับในเรื่องของความอร่อยของน้ำพริกกะปิ และผักที่สดจากไร่จากสวนของสมาชิก
เริ่มมีผู้คนถามหาน้ำพริกกะปิมากขึ้น ทางกลุ่มอาหารจึงจัดน้ำพริกกะปิและผักพื้นบ้านเป็นเมนูหลัก ที่เรียกว่าอาหารสุขภาพเชิงรุกของบ้านจำรุง เมื่อได้กินแล้ว อร่อยในรสชาติ จึงบอกต่อ บอกต่อ ต่อต่อกันไป
น้ำพริกกะปิบ้านจำรุงกับผักอินทรีย์ จึงกลายเป็นอาหารหลักให้กับทุกคนที่หมู่บ้านและคนภายนอก ได้มีสุขภาพดี สุขภาวะสมดุล
วันนี้ขอเชิญทุก ๆท่าน ที่รักในสุขภาพตนเองและสุขภาพของสังคม มาร่วมกันเลิกใช้สารเคมี “คนผลิตไม่ใช้สารเคมี คนกินไม่ซื้อผลผลิตจากสารเคมี” เท่านี้เราก็ได้ร่วมกันช่วยให้โลกใบนี้สดใสไปได้อีกนานเท่านาน


สนับสนุนโดย มหาวิทยาลัยบ้านนอก เครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง
สภาองค์กรชุมชนตำบลเนินฆ้อ ๐๘๗๘๑๗๘๐๓๐

เครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

เครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง
เป็นองค์กรภาคประชาชน ที่ร่วมกันลุกขึ้นมาจัดการชีวิตตนเอง มีเป้าหมายที่จะนำชีวิตไปสู่ความมั่นคง ด้วยความหลากหลายของผู้คน จึงมีการรวมตัวกันขับเคลื่อนงานถึง ๔๔ กลุ่มกิจกรรม มีเป้าหมายร่วมกันคืองาน ฟื้นฟูทรัพยากร คนดินน้ำป่า เพื่อพากันไปสู่เป้าหมายหลัก คือ สังคมเป็นสุข ชีวิตมั่นคง พึ่งพาตนเองได้ บนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ระยะที่ ๑ ปี ๒๕๒๙ – ๒๕๔๐ เราเริ่มต้นกันเมื่อปี ๒๕ ปีที่แล้ว มีคนกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งในหมู่บ้านจำรุง ตำบลเนินฆ้อ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ที่ช่วยกันระดมความคิด และแปลงความคิดสู่การปฏิบัติ ผ่านกลุ่มกิจกรรมในพื้นที่ ขับเคลื่อนงานพึ่งพาตนเอง ผ่านกลุ่มแปรรูปผลผลิต กลุ่มเกษตรพื้นบ้าน กลุ่มร้านค้าชุมชน กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มผู้ใช้น้ำ ฯ ใช้เวลาอยู่ ๑๑ ปี จึงเริ่มมั่นใจและมั่นคงขึ้น
ระยะที่ ๒ ปี ๒๕๔๑ – ๒๕๕๐ มีการขยายผลการทำงานจากหมู่บ้านจำรุงไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงในตำบลเนินฆ้อ และตำบลชากโดน ตำบลกร่ำ ด้วยการไปสร้างเป้าหมายร่วม คืองานฟื้นฟูทรัพยากร คน ดิน น้ำ ป่า จึงเกิดกลุ่มกิจกรรมตามมา เช่นกลุ่มโฮมสเตย์ กลุ่มธนาคารปูแสม กลุ่มบ้านปลาธนาคารปู กลุ่มตีมีดกรีดยางพารา กลุ่มรวมซื้อรวมขายยางพารา กลุ่มกองทัพมดเพื่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มธนาคารขยะ กลุ่มธนาคารต้นไม้ กลุ่มธนาคารชุมชน กลุ่มสวัสดิการชุมชน เครือข่ายแปรรูปผลผลิต กลุ่มรักษ์วัฒนธรรม กลุ่มวิทยุชุมชน ฯ ทุกกลุ่มกิจกรรมได้เคลื่อนงานไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือการสร้างความมั่นคงในการดำเนินชีวิตบนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมี เครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง ทำหน้าที่ประสานงาน อำนวยความสะดวกและบริการ
ระยะที่ ๓ ปี ๒๕๕๐ – ๒๕๖๐ เริ่มมีมุมมองการทำงานสู่งานนโยบายสาธารณะมากขึ้น มีการเชื่อมโยงการทำงานกับภาคีพัฒนาอื่น ๆ เพื่อบอกแนวทางนโยบายสาธารณะให้กับสังคม ในระดับพื้นที่ปฏิบัติการมีการจัดการความรู้สู่สังคมในรูปแบบของการถ่ายเทประสบการณ์ของคนทำงานกับคนที่อยากเรียนรู้ ที่เรียกว่าชุดความรู้จากมหาวิทยาลัยบ้านนอกแห่งบ้านจำรุง เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับสังคมในวงกว้าง ได้มั่นใจในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านกิจกรรมที่หลากหลายมากขึ้น เช่นการจัดการเครือองค์กรชุมชนสู่ความเข้มแข็งยั่งยืน การจัดการระบบการผลิตเกษตรอินทรีย์กับระบบการตลาดให้ยืนติดกัน การจัดการทุนชุมชนผ่านกิจกรรมธนาคารชุมชน การจัดการทรัพยากรผ่านกิจกรรมธนาคารขยะ กองทัพมดเพื่อสิ่งแวดล้อม สาราวัตรขยะเพื่อสังคม การสร้างความมั่นคงผ่านกิจกรรมธนาคารต้นไม้ การจัดระบบสวัสดิการชุมชน การผลิตด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ การสร้างโต๊ะผักอินทรีย์ในทุกวันเสาร์อาทิตย์ ฯ
ในระยะที่ ๓ มีช่วงของการทำงานไปจนถึง ปี ๒๕๖๐ อีกประมาณ ๕ ปีข้างหน้า เครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง จะเป็นองค์กรภาคประชาชนต้นแบบให้กับสังคมได้เชื่อมั่นในวิถีแห่งชุมชนท้องถิ่น และร่วมกับภาคีพัฒนาในการเสริมสร้างพลังทางสังคม ให้เป็นสังคมของพลเมืองอย่างแท้จริง สมกับความมุ่งมั่นที่ว่า
“สังคมเป็นสุข ชีวิตมั่นคง พึ่งพาตนเองได้ บนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”
ศูนย์ประสานงาน เครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง ๗๐ หมู่ ๗ ตำบลเนินฆ้อ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง www.banjumrung.org Email. Chartchai04@gmail.com