วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2555

ศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติบ้านจำรุง ลุงสำเริง ดีนาน หรือลุงขลุ่ย เล่าให้ฟังว่า “ เกษตรกรรุ่นใหม่มักเข้าใจว่าต้นไม้ไม่ฉลาด ต้องจัดการเรื่องอาหารการกินให้กับเขา” ซึ่งการจัดการมีหลายวิธีเช่น ใส่ปุ๋ยเคมีบ้าง พ่นสารเคมีบ้าง ใช้ฮอร์โมนเปิดตาดอก ใช้สารเร่งต่าง ๆ ฯ เพื่อจะได้ขายนอกฤดู ทั้งหลายทั้งปวง ต้องสูญเสียเงินตรามหาศาลเพื่อให้ได้ผลผลิตตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่ปรากฏว่ายิ่งทำยิ่งแย่ เสียทั้งสุขภาพ เสียทั้งเงิน เกษตรกรไทยส่วนใหญ่จึงตกเป็นเครื่องมือให้กับพ่อค้าสารเคมีและนักวิชาการบางคนที่เห็นประโยชน์ตนมากว่าประโยชน์สาธารณะ ลุงสำเริง ดีนาน จึงรวบรวมความคิดและประสบการณ์การทำเกษตรอินทรีย์ไร้สารเคมี ชักชวนผู้คนได้กลุ่มหนึ่ง ลุกขึ้นมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงแนวทางการทำเกษตรธรรมชาติเพื่อพึ่งตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีเป้าหมายว่าคนกินสุขภาพดี คนผลิตห่างไกลจากสารเคมี โดยเริ่มต้นพบปะพูดคุยกันที่มหาวิทยาลัยบ้านนอก และได้พัฒนาพื้นที่ด้านหลังมหาวิทยาลัยบ้านนอกเป็น ศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติบ้านจำรุง โดยใช้แนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่เป็นแนวทางการทำงาน “ทำเกษตรอินทรีย์เพื่อพึ่งพาตนเอง ต้องใจเย็น ค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะการต่อสู้ทางความคิดของตนเอง เมื่อผ่านความคิดของตนเองได้แล้วจึงค่อยขยายผลไปยังเพื่อนบ้าน จากนั้นจึงรวมกันเป็นกลุ่มและเป็นเครือข่ายองค์กรชุมชนในช่วงเวลาต่อมา ” ลุงสำเริง ดีนาน พูดด้วยน้ำเสียงที่เชื่อมั่น และเพื่อให้ทุกขั้นตอนสามารถปรับตัวสู่ระบบธรรมชาติที่สมดุล มีการจัดองค์ประกอบว่าด้วยงานฟื้นฟูทรัพยากร คน ดิน น้ำ ป่า ผ่านกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่ของตำบลเนินฆ้อ มีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับเครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง สภาองค์กรชุมชนตำบลเนินฆ้อ องค์กรปกครองท้องถิ่น เริ่มต้นด้วยการจัดการความรู้วิถีเกษตรธรรมชาติ ผ่านงานของ มหาวิทยาลัยบ้านนอก ด้วยการนำประสบการณ์ของสมาชิกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเป็นประจำที่ ศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติ ภายในมหาวิทยาลัยบ้านนอก ตั้งแต่ต้นทางการผลิตจนถึงครัวของผู้บริโภค เป็นกระบวนการเรียนรู้แบบภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยระยะเวลาในการเรียนรู้มากกว่า ๒๕ ปี จึงทำให้เกิดชุดความรู้ในนามของมหาวิทยาลัยบ้านนอกในที่สุด
เพื่อให้การจัดการศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติมีความสมดุลมากขึ้น จึงต้องเชื่อมโยงการทำงานกันทั้งระบบ มีการชักชวนสมาชิกส่วนหนึ่งไปก่อตั้งกลุ่มธนาคารต้นไม้ นำแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่บอกกับทุกคนเรื่องไม้สามอย่าง ประโยชน์สี่อย่าง “ไม้กินได้ ไม้โตเร็ว ไม้เศรษฐกิจ ไม้ทั้งสามประเภทปลูกในแผ่นดินไหน แผ่นดินนั้นมีความมั่นคง เพราะจะเกิดปัจจัยพื้นฐานในการดำเนินชีวิต ๔ เรื่อง คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า ยารักษาโรค “ ลุงสำเริงพูดเน้นย้ำทางความคิดให้กับทุกคน เมื่อรวมกลุ่มในการผลิตแล้ว จึงเดินหน้าสร้างกลไกการตลาดร่วมกัน เพราะผลผลิตจากเกษตรธรรมชาติผิวไม่สวย พ่อค้าคนกลางมักไม่ซื้อหรือถ้าซื้อมักให้ราคาต่ำมาก
“ต้องทำให้กลไกการผลิตกับกลไกการตลาดยืนติดกันให้ได้เพื่อความมั่นใจในการเดินบนเส้นทางเกษตรธรรมชาติพึ่งตนเอง” ลุงสำเริง กล่าวกับสมาชิกในวันประชุมประจำเดือนของเครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง กลุ่มแปรรูปผลผลิต จึงสานแนวคิดของลุงสำเริง เรื่องการนำผลผลิตไปแปรรูป เท่าที่มีภูมิปัญญาในท้องถิ่น “ทุเรียนราคาถูกเราทอด มังคุดถูกเรากวน กล้วยไม่มีราคาเราทำกล้วยกรอบแก้ว “กลุ่มแปรรูปผลลิตเรียนรู้การแปรรูปผลผลิตการเกษตรทุกตัว “หาเคยจากทะเล ทำกะปิ หาปลาหัวอ่อนมาทำน้ำปลา ร่วมกันคิด ระดมทุน ร่วมกันทำ เพื่อการพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น” กลุ่มแปรรูปกะปิน้ำปลาบ้านจำรุง เล่าถึงกระบวนการจัดการกลุ่ม โอทอปโบราณ เป็นแนวคิดของลุงสำเริง ดีนาน ที่ต้องการสร้างชื่อให้กับสินค้าในชุมชน ซึ่งในกระบวนการผลิตต้องไม่ใช้สารเคมี ตลาดเครือข่ายแปรรูปผลิต ที่มหาวิทยาลัยบ้านนอกบ้านจำรุง จึงมีผลิตภัณฑ์ ที่ได้รับการรับรองจากเครือข่ายองค์กรชุมชนให้เป็น โอทอบโบราณ ของที่นี่ “โอทอปโบราณ ต้องไม่ใช้สารเคมีในทุกขั้นตอนการผลิต ต้องเห็นคนกินเป็นพ่อ แม่” ลุงสำเริง บอกกับทุกคนด้วยแววตาที่มุ่งมั่น “มังคุดยิ้ม เงาะหัวเราะ ทุเรียนสบายใจ ลองกองหวานอร่อย ผักพื้นบ้านปลื้ม ฯ “ เป็นสิ่งที่ลุงสำเริง สัมผัสได้จากการเลิกใช้สารเคมีและกลายเป็นโอทอปโบราณในที่สุด การเชื่อมโยงการทำงานระหว่างกลุ่มที่ผลิต เช่นกลุ่มเกษตรพื้นบ้าน กลุ่มแปรรูปกะปิ น้ำปลา กลุ่มแปรรูปผลผลิตจากทุเรียน มังคุด กล้วย ผลไม้อื่น ๆ กลุ่มรวมซื้อรวมขายยางพารา กลุ่มธนาคารปูแสม กลุ่มบ้านปลาธนาคารปู กลุ่มแปะหอย กลุ่มตีมีดกรีดยางพารา กับ กลุ่มงานอื่น ๆ เช่น กลุ่มร้านค้าพอเพียง กลุ่มธนาคารชุมชน กลุ่มธนาคารชุมชน วัฒนธรรมท้องถิ่น กลุ่มกองทัพมด ตลาดเครือข่ายแปรรูป เครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง มหาวิทยาลัยบ้านนอก ฯ นับเป็นกระบวนการที่จะพาสมาชิกของทุกกลุ่ม เดินไปสู่เป้าหมายของชีวิต ที่มองเรื่องความมั่นคงของตนเองและสังคมให้ไปพร้อม ๆ กัน “การรวมตัวกันเป็นกลุ่ม ทำให้คนเล็กคนน้อยเป็นประชาชนเต็มขั้น” เป็นการสร้างโอกาสการทำมาหากินที่ยั่งยืนผ่านพื้นที่ของศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติบ้านจำรุง ” ลุงสำเริงเล่าให้ฟัง “การนำหลาย ๆ กลุ่มมาเชื่อมโยงการทำงานเพื่อให้เห็นเป้าหมายร่วมเป็นการสร้างประชาชนให้เป็นพลเมือง มีความจำเป็นอย่างยิ่ง” เพราะเป็นการทำงานที่มั่นคง ยั่งยืน ลุงสำเริงกล่าวต่อ พื้นที่งานเล็ก ๆ ที่ศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติ กำลังทำหน้าที่สำคัญให้กับสังคมไทย มีความมั่นใจในวิถีเกษตรพึ่งตนเอง สร้างกลไกการผลิตกับกลไกการตลาดใกล้บ้านตัวอย่าง มีกระบวนการแปรรูปที่ชัดเจน ผลิตภันฑ์ชุมชนที่ไม่ใช้สารเคมี ที่เรียกกันติดปากว่าโอทอปโบราณ สามารถสร้างรายได้มหาศาลให้กับกลุ่มเกษตรกร ชีวิตชุมชนท้องถิ่นที่ศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติ บ้านจำรุง คึกคักและมีชีวิตชีวา ด้วยการเดินทางของผู้คนที่สนใจการรวมตัวของชาวบ้านตัวเล็กที่แทบไม่มีพลังทางสังคม มาร่วมเรียนรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น แนะนำ พูดคุยกัน ลุงสำเริง ดีนาน ได้รับการยอมรับในสังคมวงกว้างมากขึ้น เกิดพลังใจในการขับเคลื่อนงานเกษตรธรรมชาติเพื่อสังคม “ไม่เคยล้มเหลว เพียงแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่านั้น” ลุง สำเริง ดีนาน ให้กำลังใจกับทุกคนที่เริ่มต้นในการทำงานเพื่อสังคม ศูนย์ประสานงาน สถาบันเรียนรู้วิถีเศรษฐกิจพอเพียงมหาวิทยาลัยบ้านนอก เครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง สภาองค์กรชุมชนตำบลเนินฆ้อ www. Banjumrung.org โทรศัพท์ ๐๘๗๘๑๗๘๐๓๐ โทรสาร ๐๓๘๖๗๐๗๒๑ Email.chartchai04@gmail.com

วันพุธที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2555

ร้านพอเพียง ซื้อเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เป็นร้านขายของชำเล็ก ๆ ตั้งอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยบ้านนอกแห่งบ้านจำรุง มีสินค้าพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตทุกอย่าง เมื่อมองเข้าไปในบริเวณร้าน แทบจะไม่เห็นสินค้าอะไรมากมายนัก เพราะสินค้าส่วนใหญ่อยู่ในโอ่งและมีฝาปิด แต่...ที่นี่มียอดขายปีละร่วม ๒ ล้านบาท ที่สำคัญร้านนี้ไม่มีพนักงานขายสินค้า ต้องซื้อเอง ทอนเงินเอง มันเกิดอะไรขึ้น ไม่น่าเป็นไปได้
จากแนวคิดของคณะทำงานเครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง ที่จะนำพาชีวิตของสมาชิกไปสู่ความมั่นคง พึ่งพาตนเองได้บนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงควรมีร้านค้าของทุกคน สัก หนึ่งร้าน ที่มีสินค้าราคาถูก ทุกคนเป็นเจ้าของร่วม และเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคนไปสู่ความเป็นพลเมือง เวทีประจำเดือนของเครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง เริ่มออกแบบ โดยชวนสมาชิกและกลุ่มองค์กร มาถือหุ้น หุ้นละ ๑๐๐ บาท เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม มีนายสำเริง ดีนาน ทำหน้าที่จัดหาสินค้าจำเป็นพื้นฐานมาวางในร้านพอเพียง จัดสร้างโรงเรือนร้านค้าภายในมหาวิทยาลัยบ้านนอก ทุกอย่างลงตัวเริ่มมีการซื้อขายสินค้าตามแนวทางที่ตกลงกันไว้ ในทุก ๆ เดือนมีการบอกเล่าความก้าวหน้าของร้านพอเพียงเป็นระยะ ๆ “ กิจกรรมโครงการที่โดดเด่นมีอะไรบ้าง ” นักเดินทางที่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานพัฒนากับเรา ที่มหาวิทยาลัยบ้านนอก มักถามทุกครั้ง เราจะตอบว่า “ ร้านพอเพียง ซื้อเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ” เป็นคำตอบที่เราภูมิใจ ศูนย์ประสานงาน เครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง มหาวิทยาลัยบ้านนอก สภาองค์กรชุมชนตำบลเนินฆ้อ www. banjumrung.org โทรศัพท์ ๐๘๗๘๑๗๘๐๓๐ โทรสาร ๐๓๘๖๗๐๗๒๑

วันเสาร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2555

ธนาคารขยะและสิ่งแวดล้อมบ้านจำรุง ปี ๒๕๔๕ เครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง ได้หารือถึงแนวทางในการจัดการขยะในชุมชน ที่ประชุมเสนอว่าควรจัดตั้งธนาคารขยะ เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะให้กับตำบล โดยเน้นให้ทุกคนมีส่วนร่วมด้วยการระดมทุน คนละ ๑๐๐ บาท และจัดหาสถานที่ตั้งธนาคารที่บริเวณหน้าบ้านของ ป้ากิมฮ่อง ก่อเกื้อ ขณะเดียวกันได้ประชาสัมพันธ์ผ่านรายการต่าง ๆ ของวิทยุชุมชนพลเมืองบ้านจำรุง จากการระดมทุนอยู่ ๑ เดือนจึงขายหุ้นให้กับสมาชิกได้ ๙๑ ครอบครัว กิจกรรมเริ่มต้นด้วยเงิน ๙,๑๐๐ บาทและได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) อีก ๓๐,๐๐๐ บาท เริ่มดำเนินการเปิดซื้อทุกวันพุธช่วงบ่าย สัปดาห์ละ ๑ ชั่วโมง ทำให้ขยะในชุมชนลดลงอย่างเห็นได้ชัด ด้วยเป้าหมายใช้ธนาคารขยะเป็นเครื่องมือสร้างเสริมสุขภาวะและขับเคลื่อนสู่นโยบายสาธารณะ ในปีถัดมา กองทัพมดบ้านจำรุงได้ร่วมกับสาราวัตรขยะ(นายภูมิทัต ดีนาน) เก็บขยะข้างถนน ส่งผลต่อชุมชนทั้งทางตรงและทางอ้อม “ขยะเป็นเงินไปธนาคาร ขยะเป็นปุ๋ยไปกลุ่มเกษตรพื้นบ้าน ขยะข้างถนนอยู่ในมือกองทัพมด” เด็กชายธนวัน มัจฉาหรือซุปเปอร์เคน หัวหน้ากองทัพมด บอกกับทุกคน ปี ๒๕๕๐ องค์กรปกครองท้องถิ่น เริ่มนำแนวทางของการจัดการขยะไปขยายผลในชุมชนอีก ๘ แห่งในตำบลเนินฆ้อ มีการสนับสนุนอย่างจริงจังในระยะต่อมา ทั้งโครงการขยะแลกแต้ม โครงการอุ้มลูกจูงหลานไปวัดและนำขยะไปแลกแต้มในทุกวันอาทิตย์ โครงการหน้าบ้านน่ามอง ส่วนเครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุงสนับสนุนกิจกรรม ๑ ครัวเรือน ๑ ปลอกบ่อเพื่อปลูกผักบริเวณหน้าบ้าน ด้วยศรัทธาและเชื่อมั่นในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการสนับสนุนของ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ในระยะเริ่มต้น การพัฒนาต่อยอดของ เทศบาลตำบลเนินฆ้อ ในระยะต่อมา ประสานการทำงานในแบบของชาวบ้านที่เรียกว่างาน เครือข่ายองค์กรชุมชน ที่มองเห็นทุนทางสังคมในพื้นที่และได้ร่วมเรียนรู้ ช่วยกันทำงาน จนได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน ทำให้กลุ่มธนาคารขยะและสิ่งแวดล้อม เป็นเครื่องมือสำคัญอีกชิ้นหนึ่งในงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่น “ต้องไม่มีขยะในธนาคารภายใน ๑๐ ปี” สมาชิกคนหนึ่งบอกกับทุกคน ตลอดระยะเวลาของการเรียนรู้ สังคมได้รับประโยชน์มากมายจากกิจกรรมดังกล่าว ทั้งชุดประสบการณ์ตรงจากการปฎิบัติการจริง สุขภาวะของหมู่บ้าน ตำบล รายได้เสริม ทำให้ผู้คนในชุมชนท้องถิ่นมีความเชื่อมั่นในการพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น เกิดแรงเหวี่ยงไปสู่นโยบายสาธารณะของประเทศ ที่จะพากันเดินไปสู่เป้าหมาย “สังคมอยู่เย็นเป็นสุข ชีวิตมั่นคง พึ่งพาตนเองได้ บนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ด้วยมือของพลเมือง ศูนย์ประสานงาน เครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง มหาวิทยาลัยบ้านนอก สภาองค์กรชุมชนตำบลเนินฆ้อ www. Banjumrung.org โทรศัพท์ ๐๘๗๘๑๗๘๐๓๐ / ๐๘๗๑๔๓๗๕๗๖
กลุ่มโฮมสเตย์บ้านจำรุง (HOMESTAYBANJUMRUNG) ปี ๒๕๔๕ เครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง ได้ชักชวนสมาชิกของเครือข่าย ฯ จัดตั้ง กลุ่มโฮมสเตย์บ้านจำรุง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในงานสุขภาพเชิงรุก และสร้างเสริมสุขภาวะในงานฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น มี บ้านป้ากิมห่อง ก่อเกื้อ เป็นบ้านตัวอย่างต้นแบบและขยายผลไปในระดับหมู่บ้านและตำบลในระยะต่อมา เมื่อดำเนินการไปได้ระยะหนึ่ง จึงมีผู้เข้าร่วมมากขึ้น ด้วยแนวทางการทำงานที่ชัดเจน ๔ เรื่อง คือ ๑.หน้าบ้านสะอาด ๒.ในบ้านเป็นระเบียบ ๓.เครื่องนอนพอดูได้ และ๔.สื่อสารงานพัฒนาอย่างเข้าใจ จีงกลายเป็นรูปแบบ ที่เรียกกันติดปากต่อมาว่า “เสื่อผืน หมอนใบ มุ้งหนึ่งหลัง ต้อนรับเสมือนญาติ” และ ”นอนหนึ่งคืน ครึกครื้นหนึ่งปี” ปี ๒๕๕๐ กลุ่มโฮมสเตย์บ้านจำรุง ได้รับมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย มีหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาหนุนเสริมและพัฒนาจนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญให้กับชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ มีนักเดินทางมาพักตลอดทั้งปี เชื่อมโยงการทำงานกับกลุ่มกิจกรรมอื่น ๆ เช่นกลุ่มอาหาร กลุ่มรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น กลุ่มศิลปะการแสดงกองทัพ กลุ่มแปรรูปผลผลิต กลุ่มธนาคารขยะ ศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติ ฯ จนเป็นรูปธรรม มีการจัดการความรู้ของ มหาวิทยาลัยบ้านนอก นำไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสังคมวงกว้าง ด้วยศรัทธาและเชื่อมั่นในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการสนับสนุนของ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ในระยะเริ่มต้น การพัฒนาต่อยอดของ กรมการท่องเที่ยว ในระยะต่อมา ประสานการทำงานในแบบของชาวบ้านที่เรียกว่างาน เครือข่ายองค์กรชุมชน ที่มองเห็นทุนทางสังคมในพื้นที่และได้ร่วมเรียนรู้ ช่วยกันทำงาน จนได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน ทำให้กลุ่มโฮมสเตย์บ้านจำรุง เป็นเครื่องมือสำคัญอีกชิ้นหนึ่งในงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่น
ตลอดระยะเวลา ๑๐ ปีของการเรียนรู้ กลุ่มโฮมสเตย์บ้านจำรุง ได้รับประสบการณ์มากมายจากการปฎิบัติการจริง ความเห็นต่าง ความเห็นร่วม ความสุข ความมั่นคงแห่งชีวิต รายได้เสริม ที่สำคัญชุมชนท้องถิ่นมีความเชื่อมั่นในการใช้ทุนทางสังคมในพื้นที่ เป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเอง พึ่งพากันได้มากขึ้น และเกิดแรงเหวี่ยงไปสู่นโยบายสาธารณะในที่สุด “สังคมอยู่เย็นเป็นสุข ชีวิตมั่นคง พึ่งพาตนเองได้ บนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ศูนย์ประสานงาน มหาวิทยาลัยบ้านนอก เครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง สภาองค์กรชุมชนตำบลเนินฆ้อ www. Banjumrung.org โทรศัพท์ ๐๘๗๘๑๗๘๐๓๐ โทรสาร ๐๓๘๖๗๐๗๒๑ Email.chartchai04@gmail.com

วันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2555

จากใจมหาวิทยาลัยบ้านนอก

เสียงสะท้อนจากมหาวิทยาลัยบ้านนอก บ้านจำรุง จ.ระยอง สามปีก่อน ผมรู้จัก มหานอกวัด ชื่อภิศักดิ์ นับงาม ที่เรียกอย่างนั้น เพราะบุคลิกของเขา กิน อยู่ นอนง่ายๆ มีคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการทำงาน วันแรกที่เห็น ทราบเพียงว่าเป็นเจ้าหน้าที่คนใหม่ของสถาบัน มารับงานด้านข้อมูลให้กับการทำงานของขบวนชาวบ้านแบบเรา ผมสับสนพอสมควร เพราะตามจิตนาการของผม คนทำงานข้อมูลคงมีลักษณะที่ไม่ใช่แบบที่เห็น แต่สำหรับเขาต่างกันสิ้นเชิง คือ ขี่จักรยาน ทานข้าวกล่อง นอนสำนักงาน แต่งตัวง่าย ผมนึกถึงพระ แต่นี่เขาไม่ได้บวช ไม่มีผ้าเหลืองห่มกาย ผมจึงขนานนามเขาว่า มหานอกวัด เมื่อร่วมงานกัน ประสบการณ์ด้านไอที สามารถนำมาปรับใช้เพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสมลงตัว สนับสนุนการทำงาน แบบขบวนองค์กรชุมชนชาวบ้านแบบเราๆ ทำเรื่องยาก ให้เป็นเรื่องง่าย ที่สำคัญเขาไม่เคยเบื่อที่จะถ่ายทอดความรู้ให้กับชุมชน ทั้งๆ ที่พวกเราสอนยากสอนเย็นจริงๆ เขาจากเราไปตามเส้นทางแห่งฝัน ผมขาดการติดต่อกับเขาไประยะหนึ่ง เพราะเส้นทางการทำงาน ทำให้ไม่เจอกัน แต่ยังนึกถึงในสิ่งที่เขาเคยบอกไว้ว่า “ถ้ามีงานอะไรที่พอจะช่วยได้ก็ยินดีเสมอ ขอให้บอก สำหรับงานพัฒนาชุมชนน๊ะ” เมื่อระยะเวลาในการซื้อพื้นที่ของการทำเว็บไซต์หมดลง เราไม่ได้ซื้อพื้นที่ต่อเพราะเราคิดว่า จะนำเงินไปพัฒนาเรื่องอื่นก่อน แต่เครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง ยังต้องการทำเว็บไซต์ จู่ๆ ได้รับอีเมล์จากมหานอกวัดว่า “กูเกิ้ลไซต์ให้พื้นที่ฟรี เพื่อการทำเว็บไซต์แล้ว” ถ้าสนใจจะลองเรียบเรียง และลองทำเป็นหลักสูตร คิดเห็นเป็นประการใด ตอบไปว่า “เห็นด้วย เรากำลังรอคอยอยู่ เรียนรู้ และลองทำหลักสูตรไปด้วย เพราะเราจะมีเวทีให้กับแกนนำในตำบลต่างๆ ของจังหวัด“ จึงกลายมาเป็นเว็บไซต์ของบ้านจำรุง และหลักสูตรเรียนรู้กูเกิ้ลไซต์ ฉบับชาวบ้าน ในช่วงถัดมา เว็บไซต์บ้านจำรุง ได้รับการยอบรับพอสมควร ทำให้ชุมชนท้องถิ่นที่ขาดโอกาสได้รับโอกาสทันที จากการที่เข้ามาพบเครื่องมือเขียนเว็บอย่างกูเกิ้ลไซด์ โดยแนะนำเรียนรู้แบบชาวบ้านอย่างเราๆ ขอบคุณท่านมหานอกวัด ที่ให้ผมเขียนเรื่องราวที่ผ่านมา ขอบคุณแทนชุมชนท้องถิ่นในประเทศไทย ที่มีนักไอทีที่เห็นคุณค่าของงานพัฒนาพื้นที่สังคมชนบท เข้าใจแนวทางการทำงานของขบวนองค์กรชุมชน ณ วันนี้ ผมมีเพื่อนร่วมงานอีกคนหนึ่งแล้ว เพื่อนคนนี้ชื่อ ภิศักดิ์ นับงาม ชาติชาย เหลืองเจริญ เครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง / มหาวิทยาลัยบ้านนอก http://sites.google.com/site/banjumrung 5 กันยายน 2552

วันเสาร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2555

โฮมสเตย์บ้านจำรุง มาตรฐานโฮมสเตย์ไทย

กลุ่มโฮมสเตย์บ้านจำรุง ปี ๒๕๔๕ เครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง ได้ชักชวนสมาชิกของเครือข่าย ฯ จัดตั้ง กลุ่มโฮมสเตย์บ้านจำรุง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในงานสุขภาพเชิงรุก และสร้างเสริมสุขภาวะในงานฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น มี บ้านป้ากิมห่อง ก่อเกื้อ เป็นบ้านตัวอย่างต้นแบบและขยายผลไปในระดับหมู่บ้านและตำบลในระยะต่อมา เมื่อดำเนินการไปได้ระยะหนึ่ง จึงมีผู้เข้าร่วมมากขึ้น ด้วยแนวทางการทำงานที่ชัดเจน ๔ เรื่อง คือ ๑.หน้าบ้านสะอาด ๒.ในบ้านเป็นระเบียบ ๓.เครื่องนอนพอดูได้ และ๔.สื่อสารงานพัฒนาอย่างเข้าใจ จีงกลายเป็นรูปแบบ ที่เรียกกันติดปากต่อมาว่า “เสื่อผืน หมอนใบ มุ้งหนึ่งหลัง ต้อนรับเสมือนญาติ” และ ”นอนหนึ่งคืน ครึกครื้นหนึ่งปี” ปี ๒๕๕๐ กลุ่มโฮมสเตย์บ้านจำรุง ได้รับมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย มีหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาหนุนเสริมและพัฒนาจนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญให้กับชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ มีนักเดินทางมาพักตลอดทั้งปี เชื่อมโยงการทำงานกับกลุ่มกิจกรรมอื่น ๆ เช่นกลุ่มอาหาร กลุ่มรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น กลุ่มศิลปะการแสดงกองทัพ กลุ่มแปรรูปผลผลิต กลุ่มธนาคารขยะ ศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติ ฯ จนเป็นรูปธรรม มีการจัดการความรู้ของ มหาวิทยาลัยบ้านนอก นำไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสังคมวงกว้าง ด้วยศรัทธาและเชื่อมั่นในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการสนับสนุนของ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ในระยะเริ่มต้น การพัฒนาต่อยอดของ กรมการท่องเที่ยว ในระยะต่อมา ประสานการทำงานในแบบของชาวบ้านที่เรียกว่างาน เครือข่ายองค์กรชุมชน ที่มองเห็นทุนทางสังคมในพื้นที่และได้ร่วมเรียนรู้ ช่วยกันทำงาน จนได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน ทำให้กลุ่มโฮมสเตย์บ้านจำรุง เป็นเครื่องมือสำคัญอีกชิ้นหนึ่งในงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ตลอดระยะเวลา ๑๐ ปีของการเรียนรู้ กลุ่มโฮมสเตย์บ้านจำรุง ได้รับประโยชน์มากมายจากกิจกรรมดังกล่าว ทั้งชุดประสบการณ์ตรงจากการปฎิบัติการจริง ความสุข ความมั่นคงแห่งชีวิต รายได้เสริม ทำให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเชื่อมั่นในการพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น เกิดแรงเหวี่ยงไปสู่นโยบายสาธารณะของประเทศ ที่จะร่วมกันเดินไปสู่เป้าหมาย “สังคมอยู่เย็นเป็นสุข ชีวิตมั่นคง พึ่งพาตนเองได้ บนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”
ศูนย์ประสานงาน มหาวิทยาลัยบ้านนอก เครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง สภาองค์กรชุมชนตำบลเนินฆ้อ www. Banjumrung.org โทร.๐๘๗๘๑๗๘๐๓๐ Email.chartchai04@gmail.com

วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

มหาวิทยาลัยบ้านนอก (มุมมองของสื่อ)

มหาวิทยาลับ้านนอก บ้านจำรุง

ขณะที่หลายคนดิ้นรนจะมาเรียนมหา วิทยาลัยชื่อดังในกรุงเทพฯ แต่ชาวบ้าน จำรุง ต.เนินฆ้อ อ.แกลง จ.ระยอง กลับภูมิใจกับ "มหาวิทยาลัยบ้านนอก" ที่พวกเขาชาวไร่ชาวนาช่วยกันตั้งขึ้น
เพื่อเป็นพื้นที่เรียนรู้การเกษตร และวิถีชีวิตที่พึ่งพาตนเองตามธรรมชาติ ในแบบฉบับชาวบ้านแท้ๆ และพัฒนาจนโด่งดัง จนแต่ละวันมีผู้เดินทางมาศึกษาดูงานไม่ต่ำกว่าพันคน
ภายในมหาวิทยาลัยบ้านนอก ประกอบด้วยศูนย์รวมผลผลิตทางการเกษตร คือสินค้าของฝาก โอท็อปโบราณ ได้แก่ น้ำพริกกะปิ น้ำปลาดีชั้นหนึ่ง ทุเรียนทอด พืชผัก สมุนไพรพื้นบ้าน รวมทั้งผลไม้ทั้งมังคุด เงาะ สละ แก้วมังกร มะยงชิด ลองกองที่ผิวไม่สวยแต่หวานกรอบ และปราศจากสารเคมี
ทั้งยังมีแหล่งผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ที่ชาวบ้านร่วมมือกันผลิตใช้เองในหมู่บ้าน แบ่งการศึกษาเป็นโซนต่างๆ เช่น กลุ่มผลิตกะปิ-น้ำปลา กลุ่มเกษตรพื้นบ้าน กลุ่มชาวนา เป็นต้น เพื่อสะดวกต่อการเผยแพร่ให้ความรู้กับผู้มาเยือน
นายมานพ กว้างขวาง หรือ "ลุงใจ" สมาชิกสภาเทศบาลตำบลเนินฆ้อ หนึ่งในคณะทำงานเครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง เล่าจุดเริ่มต้นว่า บ้านจำรุงเป็นหมู่บ้านเล็กๆ สมาชิกเหมือนเป็นคนครอบครัวเดียวกันทั้งหมด แต่เดิมมีลุงสำเริง ดีนาน เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง "โอท็อปโบราณ" ก่อนจะพัฒนาเป็นศูนย์โอท็อปชาวบ้าน นำสินค้าผลผลิตทางการเกษตรในชุมชนมาขาย
นอกจากนี้ ยังเปิดแหล่งท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ มีรถพาชมสวน ได้ทั้งการพักผ่อนใกล้ชิดธรรมชาติ และความรู้จากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแบบชาวบ้าน ทั้งเกษตรพื้นบ้านไร้สารเคมี เกษตรธรรมชาติกองทัพมด เป็นตัวอย่างนำกลับไปใช้ได้จริง
โดยเริ่มลงมือทำตั้งแต่ปีพ.ศ.2529 กระทั่งมีผลงานเป็นรูปธรรม ด้วยความร่วมมือของชาวบ้านที่เข้มแข็ง จากที่ประชุมกันในครัวเรือน กลายเป็นเครือข่ายองค์กรบ้านจำรุง ที่มีการประชุมร่วมกันทุกวันที่ 15 ของเดือน เป็นเวทีสาธารณะ หรือเวทีชาวบ้าน ที่มีทั้งเด็ก เยาวชน และคนแก่ เข้าร่วม
ต่อมาปี พ.ศ.2549 จึงจัดตั้งเป็น "มหาวิทยาลัยบ้านนอก" เพื่อการเรียนรู้ของสังคม กระทั่งได้รับรางวัล "หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงอยู่เย็นเป็นสุข" จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
จากนั้นก็มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาศึกษาหาความรู้กันอย่างไม่ขาดสาย เป็นสิ่งที่ชาวบ้านภาคภูมิใจ
ด้าน นายชื่น ดีนาน อายุ 52 ปี คณะทำงานเครือข่ายอีกคนหนึ่ง ร่วมอธิบายว่า ความไว้เนื้อเชื่อใจกันของชาวบ้านจำรุงเป็นสิ่งสำคัญ ไว้ใจกันแค่ไหนนั้น เห็นได้จากการวางกระปุกเงินไว้ให้คนในชุมชน ที่ต้องการซื้อข้าวของขณะที่คนขายไปธุระ เพียงแค่เห็นราคาที่ติดไว้ก็ให้หยิบไปได้ แต่ต้องหยอดเงินใส่กระปุกตามราคาของ ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่มีใครลักขโมยสินค้าแต่อย่างใด บ้างอาจหยอดเกินจำนวนด้วยซ้ำ ถือว่าเป็นการช่วยเหลือ เพื่อนำเงินมาสนับสนุนการพัฒนาศูนย์เรียนรู้เครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง มหาวิทยาลัยบ้านนอก
ปี พ.ศ.2546 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ได้เข้ามาช่วยเหลือด้านงบประมาณในการจัดกิจกรรมของชาวบ้านจำรุง และปีที่ผ่านมายังได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากจังหวัดระยอง ในการก่อสร้างโรงเรือนเรียกว่า "ธนาคารต้นไม้"
เพื่อเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้เรื่องพืชเศรษฐกิจ อาทิ ต้นมังคุด ต้นมะยงชิด กล้ายาง ต้นกระวาน และพืชสมุนไพรต่างๆ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถหาซื้อได้ หรือถ้าต้องการต้นกล้าจำนวนมากก็สั่งจองได้ในราคาย่อมเยาว์
นายชื่นบอกเคล็ดลับว่า ความสำเร็จของมหาวิทยาลัยบ้านนอกในวันนี้ เป็นผลจากการที่ชาวบ้านจำรุงดำเนินชีวิตบนวิถีเกษตรแบบพึ่งตนเอง เคารพธรรมชาติ รู้จักใช้ธรรม ชาติอย่างพอเพียง ไม่ขาดไม่เกินจนล้น บวกกับความ เชื่อที่ว่า ต้องยืนบนลำแข้งตัวเองให้ได้ ก่อนที่จะยื่นมือขอให้ใครเข้ามาช่วย เพราะเมื่อเข้มแข็งแล้ว ทางหน่วยงานก็จะเข้ามาส่งเสริมเอง
"แบบฉบับของบ้านจำรุงคือ คน ดิน น้ำ ป่า เป็นทรัพยากรสำคัญที่มีอยู่แล้ว คำว่าคนของที่นี่ คือความเชื่อใจกัน เคารพซึ่งกันและกัน ตั้งมั่นอยู่บนรากฐานของความมีคุณธรรม จริยธรรม และจิตสำนึกที่ดีร่วมกัน" ลุงใจกล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผู้ที่สนใจศึกษา เรียนรู้วิถีชุมชนบ้านจำรุง (มหาวิทยาลัยบ้านนอก) สามารถติดต่อไปที่ศูนย์ประสานงาน เครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง หมู่ 7 ต.เนินฆ้อ อ.แกลง จ.ระยอง หรือเข้าดูข้อมูลที่ www.banjumrung.org หรืออีเมล์ chartchai04@gmail.com

หลักคิดการทำงานของมหาวิทยาลัยบ้านนอก แห่งบ้านจำรุง

หลักคิดการทำงานของมหาวิทยาลัยบ้านนอก แห่งบ้านจำรุง

“ด้วยศรัทธาและเชื่อมั่นในหลัก ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งพวกเราแปลว่า หลักแห่งการพึ่งพาตนเอง พวกเราเชื่อในทุกพระราชดำรัส และได้ช่วยกันแปลงสู่การปฏิบัติ ทำไปเรียนรู้ไป ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่ที่เราอยู่ เริ่มจากเล็กไปหาใหญ่ ง่ายไปหายาก
ช่วยกันคิดช่วยกันบอก จึงทำให้เราค่อย ๆ พึ่งพากันได้มากขึ้น มีความมั่นคงและมั่นใจในการดำเนินชีวิต คาดหวังว่า ถ้าคนไทยทุกคนจะน้อมนำหลัก ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไปใช้ในชีวิตประจำวัน จนเป็นวิถีของตนเองแล้ว ความอยู่เย็นเป็นสุข จะเกิดกับครอบครัว ชุมชน ประเทศชาติในที่สุด"

มหาวิทยาลัยบ้านนอกแห่งบ้านจำรุง ๑ มกราคม ๒๕๕๓

การเมืองภาคพลเมือง

การเมืองภาคพลเมือง หมายถึงการที่ประชาชน

• ได้เข้าไปมีบทบาท ส่วนร่วมในกิจกรรมและกระบวนการทางการเมือง เพื่อการกำหนดแผนงาน การผลักดันนโยบายสาธารณะต่อสังคม
• มีส่วนร่วมในการตัดสินใจขององค์กรทางการเมือง และ ระบบราชการ ในทุกระดับ
• ส่วนร่วมในการตรวจสอบการดำเนินการทั้งในการเมืองและงานสาธารณะ
• ได้การดำเนินกิจกรรม ที่เป็นผลต่อการกระตุ้น การส่งเสริมให้ เกิดความตระหนักและกระตือรือร้น ที่จะเข้าไปมีบทบาท ในกระบวนการดังกล่าว
๑. การเข้าไปมีบทบาท / ส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง ต้องมีเป้าประสงค์ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
๒.กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ หมายถึงกิจกรรมทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง กิจกรรมที่ปกติถือว่าเป็นหน้าที่ของรัฐ แต่รัฐยังทำหน้าที่ได้ไม่ครบถ้วน เป็นกิจกรรมที่ยังหาเจ้าภาพที่แท้จริงมิได้ กลุ่ม องค์กร เครือข่าย จึงรวมตัวกันดำเนินกิจกรรมตามลำพังหรือร่วมกับภาคีอื่น ๆ หรือร่วมกับองค์กรภาครัฐก็ได้
๓.การดำเนินกิจกรรมของ กลุ่ม องค์กร เครือข่าย ต้องมีลักษณะที่ต่อเนื่องเป็นที่รับรู้ของสังคม การบริหารงานของกลุ่ม องค์กร เครือข่าย ต้องให้สมาชิกมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับประโยชน์ และตัดสินใจร่วมกัน ภายใต้วิถีวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่น
การเมืองภาคพลเมือง จึงเป็นเรื่องของทุกคนที่พร้อมแสดงออกทางความคิด การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ต่อสาธารณะ และสุดท้ายพลังของพลเมืองจึงกำหนดชะตาชีวิตของตนเองได้ด้วยตนเอง
สำนึกพลเมืองจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่คุณมีจิตสาธารณะ และเมื่อได้ลงมือปฏิบัติในหน้าที่ของพลเมืองด้วยแล้ว สังคมจะอยู่เย็นเป็นสุขด้วยมือคุณทันที
ชาติชาย เหลืองเจริญ มหาวิทยาลัยบ้านนอก ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๓
หมายเหตุ เป็นการรวมรวบ รับฟังผู้รู้จากพื้นที่ปฏิบัติการจริง นำมาเรียบเรียงเพิ่มเติมเพื่อที่จะเรียนรู้ร่วมกันต่อไป

สภาองค์กรชุมชนตำบลเนินฆ้อ ระยอง

สภาองค์กรชุมชนตำบลเนินฆ้อ
เป็นองค์กรภาคประชาชน ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ สภาองค์กรชุมชน พุทธศักราช ๒๕๕๑ โดยมุ่งหวังว่าจะให้ภาคประชาชนใช้เป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับขบวนองค์กรชุมชน เริ่มตั้งแต่ระดับตัวบุคคล กลุ่ม เครือข่าย หมู่บ้าน ชุมชนท้องถิ่น ตำบล จังหวัดและระดับชาติ และสามารถพึ่งพาตนเองได้ในที่สุด
สภาองค์กรชุมชนตำบลเนินฆ้อ จดแจ้งจัดตั้งเมื่อ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ได้รับการรับรองจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลำดับเลขที่ ๒๑๐๐๑ เมื่อ วันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๑ และได้ยกระดับงานพัฒนาของเครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง สู่การขับเคลื่อนงานของสภาองค์กรชุมชนตำบลเนินฆ้อ ตามภารกิจในมาตรา ๒๑
ด้วยรูปแบบการทำงาน แบบภาคประชาชน จึงทำให้สามารถต่อยอดการทำงานของเครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุงได้เป็นอย่างดี ต่อยอดทางความคิดที่มุ่งเน้นพา สังคมไปสู่ความอยู่เย็นเป็นสุข ชีวิตมั่นคง พึ่งพาตนเองได้ บนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กับภารกิจฟื้นฟูทรัพยากร คน ดิน น้ำ ป่า โดยมี ๔๔ กลุ่มกิจกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนงาน
ตลอดสามปีของการทำงานในรูปแบบของสภาองค์กรชุมชนตำบลเนินฆ้อ มีศูนย์ประสานงานอยู่ในที่ดินของตนเอง มีเวทีปรึกษาหารือกันอย่างต่อเนื่องของผู้แทนกลุ่มกิจกรรมและผู้สนใจในทุกวันที่ ๑๕ ของเดือน สมาชิกของกลุ่มมีรายได้เพิ่มขึ้น รายจ่ายลดลง ด้วยแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ จนเกิดชุดความรู้งานพัฒนาแบบชาวบ้าน และกำลังยกระดับการทำงานแบบภาคพลเมือง ที่มีมุมมองและข้อเสนอเชิงนโยบายที่มาจากประสบการณ์ตรงของผู้คนในพื้นที่ปฏิบัติการ
ด้วยศรัทธาและเชื่อมั่นในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยประสบการณ์ของปราชญ์ชุมชนและผู้รู้จากทุกภาคส่วน และการประสานความร่วมมือของทุกภาคีที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้ สภาองค์กรชุมชนตำบลเนินฆ้อ เป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง

ศูนย์ประสานงาน มหาวิทยาลัยบ้านนอก เครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง สภาองค์กรชุมชนตำบลเนินฆ้อ ๐๘๗๘๑๗๘๐๓๐

น้ำพริกกะปิที่มหาวิทยาลัยบ้านนอก บ้านจำรุง

น้ำพริกกะปิบ้านจำรุง
ปี ๒๕๔๕ กลุ่มงานเกษตรพื้นบ้าน รวมตัวกันเพื่อขับเคลื่อนงานเกษตรอินทรีย์ มีการลดละเลิกการใช้สารเคมี และยาฆ่าหญ้า จึงทำให้มีผักพื้นบ้านปลอดสารเคมีกินตลอดทั้งปี
“ผักพื้นบ้านต้องกินกับน้ำพริกกะปิ” สมาชิกของเครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุงพูดขึ้นมาระหว่างการประชุมประจำเดือน กลุ่มผลิตอาหารจึงรับแนวคิดและข้อเสนอของกลุ่มเกษตรพื้นบ้าน ไปทำน้ำพริกกะปิขึ้นมาเพื่อกินกับผักอินทรีย์ที่กลุ่มเกษตรพื้นบ้านผลิต
ทุก ๆ วันที่มีคนเดินทางไปศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่มหาวิทยาลัยบ้านนอกแห่งบ้านจำรุง กลุ่มอาหารจึงรับผักพื้นบ้านปลอดสารเคมีมาปรุงเป็นอาหารเพื่อกินกับ น้ำพริกกะปิ ต้อนรับนักเดินทาง ปรากฏว่าได้รับการยอมรับในเรื่องของความอร่อยของน้ำพริกกะปิ และผักที่สดจากไร่จากสวนของสมาชิก
เริ่มมีผู้คนถามหาน้ำพริกกะปิมากขึ้น ทางกลุ่มอาหารจึงจัดน้ำพริกกะปิและผักพื้นบ้านเป็นเมนูหลัก ที่เรียกว่าอาหารสุขภาพเชิงรุกของบ้านจำรุง เมื่อได้กินแล้ว อร่อยในรสชาติ จึงบอกต่อ บอกต่อ ต่อต่อกันไป
น้ำพริกกะปิบ้านจำรุงกับผักอินทรีย์ จึงกลายเป็นอาหารหลักให้กับทุกคนที่หมู่บ้านและคนภายนอก ได้มีสุขภาพดี สุขภาวะสมดุล
วันนี้ขอเชิญทุก ๆท่าน ที่รักในสุขภาพตนเองและสุขภาพของสังคม มาร่วมกันเลิกใช้สารเคมี “คนผลิตไม่ใช้สารเคมี คนกินไม่ซื้อผลผลิตจากสารเคมี” เท่านี้เราก็ได้ร่วมกันช่วยให้โลกใบนี้สดใสไปได้อีกนานเท่านาน


สนับสนุนโดย มหาวิทยาลัยบ้านนอก เครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง
สภาองค์กรชุมชนตำบลเนินฆ้อ ๐๘๗๘๑๗๘๐๓๐

เครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

เครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง
เป็นองค์กรภาคประชาชน ที่ร่วมกันลุกขึ้นมาจัดการชีวิตตนเอง มีเป้าหมายที่จะนำชีวิตไปสู่ความมั่นคง ด้วยความหลากหลายของผู้คน จึงมีการรวมตัวกันขับเคลื่อนงานถึง ๔๔ กลุ่มกิจกรรม มีเป้าหมายร่วมกันคืองาน ฟื้นฟูทรัพยากร คนดินน้ำป่า เพื่อพากันไปสู่เป้าหมายหลัก คือ สังคมเป็นสุข ชีวิตมั่นคง พึ่งพาตนเองได้ บนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ระยะที่ ๑ ปี ๒๕๒๙ – ๒๕๔๐ เราเริ่มต้นกันเมื่อปี ๒๕ ปีที่แล้ว มีคนกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งในหมู่บ้านจำรุง ตำบลเนินฆ้อ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ที่ช่วยกันระดมความคิด และแปลงความคิดสู่การปฏิบัติ ผ่านกลุ่มกิจกรรมในพื้นที่ ขับเคลื่อนงานพึ่งพาตนเอง ผ่านกลุ่มแปรรูปผลผลิต กลุ่มเกษตรพื้นบ้าน กลุ่มร้านค้าชุมชน กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มผู้ใช้น้ำ ฯ ใช้เวลาอยู่ ๑๑ ปี จึงเริ่มมั่นใจและมั่นคงขึ้น
ระยะที่ ๒ ปี ๒๕๔๑ – ๒๕๕๐ มีการขยายผลการทำงานจากหมู่บ้านจำรุงไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงในตำบลเนินฆ้อ และตำบลชากโดน ตำบลกร่ำ ด้วยการไปสร้างเป้าหมายร่วม คืองานฟื้นฟูทรัพยากร คน ดิน น้ำ ป่า จึงเกิดกลุ่มกิจกรรมตามมา เช่นกลุ่มโฮมสเตย์ กลุ่มธนาคารปูแสม กลุ่มบ้านปลาธนาคารปู กลุ่มตีมีดกรีดยางพารา กลุ่มรวมซื้อรวมขายยางพารา กลุ่มกองทัพมดเพื่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มธนาคารขยะ กลุ่มธนาคารต้นไม้ กลุ่มธนาคารชุมชน กลุ่มสวัสดิการชุมชน เครือข่ายแปรรูปผลผลิต กลุ่มรักษ์วัฒนธรรม กลุ่มวิทยุชุมชน ฯ ทุกกลุ่มกิจกรรมได้เคลื่อนงานไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือการสร้างความมั่นคงในการดำเนินชีวิตบนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมี เครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง ทำหน้าที่ประสานงาน อำนวยความสะดวกและบริการ
ระยะที่ ๓ ปี ๒๕๕๐ – ๒๕๖๐ เริ่มมีมุมมองการทำงานสู่งานนโยบายสาธารณะมากขึ้น มีการเชื่อมโยงการทำงานกับภาคีพัฒนาอื่น ๆ เพื่อบอกแนวทางนโยบายสาธารณะให้กับสังคม ในระดับพื้นที่ปฏิบัติการมีการจัดการความรู้สู่สังคมในรูปแบบของการถ่ายเทประสบการณ์ของคนทำงานกับคนที่อยากเรียนรู้ ที่เรียกว่าชุดความรู้จากมหาวิทยาลัยบ้านนอกแห่งบ้านจำรุง เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับสังคมในวงกว้าง ได้มั่นใจในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านกิจกรรมที่หลากหลายมากขึ้น เช่นการจัดการเครือองค์กรชุมชนสู่ความเข้มแข็งยั่งยืน การจัดการระบบการผลิตเกษตรอินทรีย์กับระบบการตลาดให้ยืนติดกัน การจัดการทุนชุมชนผ่านกิจกรรมธนาคารชุมชน การจัดการทรัพยากรผ่านกิจกรรมธนาคารขยะ กองทัพมดเพื่อสิ่งแวดล้อม สาราวัตรขยะเพื่อสังคม การสร้างความมั่นคงผ่านกิจกรรมธนาคารต้นไม้ การจัดระบบสวัสดิการชุมชน การผลิตด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ การสร้างโต๊ะผักอินทรีย์ในทุกวันเสาร์อาทิตย์ ฯ
ในระยะที่ ๓ มีช่วงของการทำงานไปจนถึง ปี ๒๕๖๐ อีกประมาณ ๕ ปีข้างหน้า เครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง จะเป็นองค์กรภาคประชาชนต้นแบบให้กับสังคมได้เชื่อมั่นในวิถีแห่งชุมชนท้องถิ่น และร่วมกับภาคีพัฒนาในการเสริมสร้างพลังทางสังคม ให้เป็นสังคมของพลเมืองอย่างแท้จริง สมกับความมุ่งมั่นที่ว่า
“สังคมเป็นสุข ชีวิตมั่นคง พึ่งพาตนเองได้ บนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”
ศูนย์ประสานงาน เครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง ๗๐ หมู่ ๗ ตำบลเนินฆ้อ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง www.banjumrung.org Email. Chartchai04@gmail.com