วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ลุงไฉไลเซียนทุเรียนแห่งบ้านจำรุง


สวนทุเรียนที่กำลังออกลูกเต็มต้น แม้ว่าลูกจะไม่ใหญ่นักแต่ก็ชวนให้คนเดินผ่านไปมาต้องระวังทุเรียนตกใส่ ชาวบ้านชุมชนบ้านจำรุงบอกว่าต้องตัดทุเรียนออกบ้างเพื่อให้มีผลใหญ่และติดต้น และต้นแม่ก็จะไม่สลัดลูกตกลงมา ทุเรียนที่ยังไม่สุกพวกนี้ก็จะนำไปแปรรูปเป็นของอร่อยอีกอย่างหนึ่ง ผู้ใหญ่บอกว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่บ้านจำรุงไม่มีสูญเปล่า ทุกอย่างต้องมีกิจกรรมหรือกระบวนการต่อไปรองรับ เพื่อให้การใช้ทรัพยากรในชุมชนเกิดประโยชน์สูงสุด ทุเรียนดิบก็นำไปแปรรูปเป็นอย่างอื่น ขนุนอ่อนที่ถูกปลิดออกเช่นกันก็นำไปใช้เลี้ยงวัว แม้แต่ขยะในชุมชนก็ยังไม่มีการทิ้งให้สูญเปล่าไปไหน เพราะในบ้านจำรุงมีกิจกรรมหมุนเวียนทรัพยากรในชุมชนไม่ว่าจะเป็น รีไซเคิล รียูส หรือรีเมคก็ตามอยู่ตลอดเวลา

คุณลุงไฉไลขอเวลาเราสักครู่ บอกว่ามีอะไรจะให้ดู คุณลุงพาเราเดินไปสถานที่หนึ่ง ที่แค่เดินเข้าไปใกล้ยังไม่เห็นอะไรก็ได้กลิ่นคุ้นเคยลอยโชยมาจาง ๆ เมื่อภาพนั้นชัดเจนขึ้น ทุเรียนลูกใหญ่เป็นพันลูกกองอยู่ตรงหน้า คุณลุงไฉไลบอกว่าเป็นทุเรียนเกรดเอมีค่ามหาศาลกำลังรอคนมารับซื้อแล้วส่งไปขายอเมริกา คิดคำนวณเงินแล้วเป็นมูลค่ามหาศาลจริง ๆ จากนั้นคุณลุงสอนวิธีเลือกทุเรียนเนื้อดีให้เรา แต่ถ้าวิธีไหนก็ตัดสินไม่ได้สักทีก็ให้ใช้วิธีสุดท้ายคือเดา คุณลุงไฉไลบอกว่าถ้าเข้าใจทุเรียนก็จะเข้าใจชีวิต ชาวสวนต้องปลิดทุเรียนออกก็เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีที่สุด ถ้าโลภมากก็จะไม่ได้ดีสักลูก ทั้งยังเป็นอันตรายอีก เปลือกทุเรียนหนา ๆ ข้างในมีเนื้ออร่อยรออยู่ แต่กว่าจะได้กินก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก อย่างน้อยก็ต้องออกแรงสักหน่อย นั่นก็คือการดำเนินชีวิตตามทางสายกลาง ความไม่ประมาท ความพยายาม ความขยันและอดทน ซึ่งหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงก็คงไม่ต่างจากสิ่งที่คุณลุงไฉไลบอกเรานัก ในบ้านของคุณลุงไฉไลมีภาพทุเรียนหลากหลายพันธ์หลากชนิด ทุเรียนพันธ์แปลก ๆ ก็มี อย่างเช่น ทุเรียนงวงช้าง ที่มีงวงงอกออกจากลูกคล้ายงวงช้างจริง ๆ ลุงไฉไลบอกเราว่าตรงงวงมันมีเนื้อกินได้ด้วย รูปทุเรียนที่แขวนอยู่ที่ผนังทำให้รับรู้ได้ถึงความรักที่ชาวสวนมีต่อผลผลิตของตนเอง เพียงแต่ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือความต้องการความสะดวกสบายทำให้ชาวสวนบางคนเลือกที่จะใช้สารเคมีกับผลผลิตของตนเอง แต่เมื่อชาวสวนบ้านจำรุงเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ มีโครงการเกษตรชีวภาพในชุมชนเพื่อ ลด ละ เลิกการใช้สารเคมี เปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และน้ำหมักชีวภาพจากแกลบ (แกลบที่เหลือจากการผลิตข้าวซ้อมมือของกลุ่มผู้สูงอายุ) หรือขี้แพะ (จากชาวบ้านที่เลี้ยงแพะ) ขยะเปียก และทรัพยากรชีวภาพอื่น ๆ จากธนาคารขยะเพื่อคืนชีวิตให้แผ่นดิน คืนความรักให้พืชผล แล้วสิ่งที่ได้กลับคืนมาก็คือชาวสวนในชุมชนได้ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มคุณภาพให้ผลผลิต ใช้ทรัพยากรในชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด และที่สำคัญที่สุดคือเราได้กินผลไม้ที่ปลอดสารเคมีและอร่อยที่สุดในโลก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น