วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

เรื่องเล่าชุมชน

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของชุมชน
การใช้สารเคมีในสวนผลไม้ จากการเก็บข้อมูลครัวเรือนในปี พ.ศ. 2543 ชาวบ้านจำรุงพบว่าการทำเกษตรกรรมในชุมชนมีการใช้สารเคมีกันอย่างรุนแรง นอกจากจะตกค้างปะปนอยู่ในผลผลิตที่ได้ อยู่ในผืนดินที่อาศัยแล้ว สารเคมีเหล่านั้นก็ยังเข้ามาปะปนอยู่กระแสเลือดของทุกคนในชุมชนอีกด้วย ชุมชนบ้านจำรุงจึงสร้างกิจกรรมที่จะช่วยรณรงค์ให้ชาวบ้านตระหนักถึงความสำคัญของการลดการใช้สารเคมีกับพืชผลทางการเกษตร มีการจัดตั้งกลุ่มเกษตรพื้นบ้าน ทำโครงการเกษตรชีวภาพ โครงการผักพื้นบ้านปลอดสารพิษ สนับสนุนให้ชุมชนใช้ปุ๋ยอินทรีย์และน้ำหมักชีวภาพแทน เพื่อชำระล้างสารเคมีตั้งแต่จุดเริ่มต้นของวงจรการผลิตและบริโภคในชุมชน ผู้ใหญ่บ้านเล่าว่าโรคภูมิแพ้ที่เป็นกันมากในหมู่คนเมือง เริ่มแพร่กระจายเข้ามาถึงเขตชุมชนนอกเมือง ส่วนหนึ่งนั่นก็เพราะอาหารที่เราทานเข้าไป อากาศที่เราหายใจมีแต่สารเคมีปนเปื้อนเป็นจำนวนมาก โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่ทำให้ร่างกายของเราทำงานได้น้อยลง ท่องเที่ยวได้น้อยลง และมีความสุขน้อยลง จากที่ชุมชนเริ่มทำร้ายผืนแผ่นดินด้วยสารเคมี ชุมชนก็จะอยู่ไม่ได้ด้วย ความสมดุลจากธรรมชาติเป็นเพียงสิ่งเดียวที่ทำให้ชุมชนและธรรมชาติอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและยั่งยืน ตอนนี้ชาวบ้านจำรุงตระหนักในความเป็นหนึ่งเดียวกันของสรรพสิ่งมากขึ้น แม้ว่าการใช้สารเคมีอาจจะยังไม่หมดสิ้นไปจากชุมชน แต่อย่างน้อยที่สุดชาวบ้านก็พยายามจะให้เหลือน้อยที่สุด และตั้งความหวังว่าทั้งชุมชนจะเลิกใช้โดยสิ้นเชิงในวันข้างหน้า


ชุมชนจะพัฒนาได้อย่างไร ถ้าไม่เริ่มด้วยตนเอง
ชาวบ้านจำรุงคิดแก้ปัญหาต่าง ๆ ด้วยตนเองอยู่ตลอดมา ไม่ว่าจะมีปัญหาใดก็ต้องร่วมกันคิดร่วมกันแก้ ส่วนใหญ่เมื่อเกิดปัญหา ก็เกิดปัญญา แล้วการตั้งกลุ่มกิจกรรมต่างๆ เพื่อแก้ปัญหานั้นก็จะตามมา ซึ่งเราจะเห็นได้ต่อไปจากการเข้าไปศึกษาในแต่ละกลุ่มกิจกรรมว่าทุกกลุ่มกิจกรรมในบ้านจำรุงเกิดขึ้นจากการปัญหา และการแก้ไขปัญหาด้วยปัญญาด้วยเหตุและผล ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2529 จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของชุมชนบ้านจำรุงเริ่มจากแนวคิดที่ต้องการจะมีเงินทุนเพื่อเป็นกองกลางในการพัฒนาหมู่บ้าน กองทุนที่เป็นของชุมชนอย่างแท้จริง เพื่อการบริหารจัดการชุมชนด้วยการพึ่งตนเอง คุณหมอบานเย็น ดีนาน เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยบ้านจำรุงจึงได้พาคณะกรรมการหมู่บ้านไปศึกษาดูงานกองทุนหมู่บ้านตามที่ต่าง ๆ แล้วจึงกลับมาประชุมปรึกษากันในชุมชนว่าบ้านจำรุงจะมีกองทุนพัฒนาหมู่บ้านขึ้นมาในลักษณะใด เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพชุมชนและความต้องการของชาวบ้านในชุมชน การระดมทุนครั้งแรกจึงเกิดขึ้นในลักษณะการระดมหุ้นเพื่อจัดตั้งร้านค้าชุมชนขึ้น โดยขอความร่วมมือจากชาวบ้านให้ช่วยกันซื้อหุ้นอย่างน้อยหลังคาเรือนละหนึ่งหุ้น ราคา 50 บาท เพื่อนำเงินมาเป็นทุนในการจัดตั้งร้านค้าชุมชน ให้ชุมชนได้มีแหล่งกระจายสินค้าของชุมชน กำไรจากการขายสินค้าเหล่านั้นก็จะกลับคืนสู่ชุมชนเป็นกองทุนพัฒนาหมู่บ้าน และเงินปันผลให้กับสมาชิกที่ซื้อสินค้าในรูปแบบสหกรณ์ชุมชน จากจุดเริ่มต้นในร้านค้าเล็ก ๆ แห่งนี้กลายเป็นต้นทางให้เกิดกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชน ด้วยความร่วมมือร่วมใจกันของชาวบ้านในชุมชนอีกมากมาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น