วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

กลุ่มกิจกรรมการผลิต


การรวมกลุ่มเกษตรกร เพื่อสร้างเครือข่ายความเข้มแข็ง
กลุ่มกิจกรรมการผลิตกลุ่มแรก และคาดว่าจะเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดก็คือการกลุ่มต่าง ๆ ของเกษตรและชาวสวน ในชุมชนบ้านจำรุงมีการรวมกลุ่มของเกษตรกร ชาวสวน กลุ่มต่างมากมายตามกลุ่มอาชีพของแต่ละคน อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าบางคนอาจสังกัดมากกว่า 1 กลุ่ม เพื่อสร้างเครือข่าย สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรชาวสวนในชุมชน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน และยังเป็นเครือข่ายกับกลุ่มกิจกรรมอื่น ๆ ได้อีก อย่างที่ผู้ใหญ่บ้านบอกเราว่าที่บ้านจำรุงไม่มีสิ่งใดเหลือใช้หรือสูญเปล่า ถ้าเก็บนำมาใช้ในกระบวนการใดได้ก็จะถูกส่งต่อให้กับกลุ่มกิจกรรมที่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ อย่างเช่น เศษแกลบ เศษรำจากโรงสีข้าวชุมชนของกลุ่มผู้สูงอายุก็จะถูกส่งต่อให้กลุ่มเกษตรพื้นบ้านนำมาทำปุ๋ยอินทรีย์ และน้ำหมักชีวภาพ กลุ่มเกษตรกรชาวสวนก็จะนำปุ๋ยอินทรีย์และน้ำหมักชีวภาพจากกลุ่มเกษตรพื้นบ้านที่ขายในร้านค้าชุมชนมาใช้ ส่วนปลายข้าวที่เหลือจากกลุ่มผู้สูงอายุก็ถูกส่งต่อให้กลุ่มผู้ใช้ตะพาบน้ำเช่นกัน ทั้งเกษตรกรชาวสวนและกลุ่มผู้เลี้ยงตะพาบน้ำร่วมถึงชาวบ้านจำรุงทุกคนก็จะได้ทานข้าวจากกลุ่มผู้สูงอายุที่ขายในร้านค้าชุมชน เราตื่นเต้นและทึ่งกับวงจรความสัมพันธ์นี้ไปชั่วขณะ ก่อนที่จะนึกขึ้นได้ว่ายังไม่จบเพียงนั้นเพราะเมื่อถึงเวลาที่ร้านค้าชุมชนจะปันผลทุกคนก็จะได้รับเงินปันผลจากยอดการซื้อของตัวเองอีกด้วย ผู้ใหญ่บอกว่า ถ้าเป็นนักวิชาการอาจเรียกว่าห่วงโซ่แห่งคุณค่าก็ว่าได้


กลุ่มเกษตรพื้นบ้านเพื่อสุขภาพชุมชน
ผู้ใหญ่ชาติชายบอกว่าบทเรียนที่ได้รับจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ประกอบกับข้อมูลที่ได้จากการเก็บข้อมูลในชุมชน ทำให้ชุมชนบ้านจำรุงเลิกการใช้สารเคมีหันกลับมาหาองค์ความรู้และภูมิปัญญาที่มีอยู่ในชุมชน เรียนรู้ที่จะพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติของตนเอง มีระบบทุนนิยมของตนเอง ทุนทางสังคมนิยมกับทุนวัฒนธรรมนิยม บทเรียนจากพืชเชิงเดี่ยวและสารเคมีเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญครั้งหนึ่งของบ้านจำรุง ชุมชนเริ่มทำความเข้าใจกับการทำการเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อปรับสมดุลให้กับระบบนิเวศน์และสุขภาพชุมชน กลุ่มเกษตรพื้นบ้านจึงถือกำเนิดขึ้นในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 จำนวนสมาชิกแรกก่อตั้ง 10 คน เพื่อดำเนินการส่งเสริมการทำเกษตรแบบปลอดสารพิษในชุมชน ทำปุ๋ยหมัก สกัดสารชีวภาพเพื่อไล่แมลง รวมทั้งทำน้ำหมักชีวภาพไว้ใช้ในกลุ่มและจำหน่ายให้ผู้สนใจ และที่สำคัญที่สุดคือกลุ่มเกษตรพื้นบ้านเป็นกลุ่มที่ปลูกผักพื้นบ้านปลอดสารพิษจากแปลงเกษตรสาธิตแล้วนำไปขายให้กับร้านส้มตำจำรุง เอาไว้บริการให้ชาวบ้านในชุมชนและนักท่องเที่ยวได้ทานคู่กับส้มตำ บางส่วนกระจายขายในชุมชนโดยคุณป้าหน่วงพนักงานขายผักพื้นบ้านในชุมชน และทำน้ำดอกอัญชันสีสวยใสไว้ให้แก่นักเดินทางอย่างเราดื่มให้ชื่นใจ กลุ่มเกษตรพื้นบ้านเป็นเจ้าของรายการวิทยุชุมชนรายการหนึ่งเพื่อใช้ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้และรณรงค์เกี่ยวกับการทำเกษตรปลอดสารพิษในบ้านจำรุง คุณยายอุทัย ประธานกลุ่มและนักจัดรายการวิทยุของกลุ่มเป็นตัวอย่างที่ทำให้เราเชื่อว่าผักปลอดสารพิษและผักพื้นบ้านต้องทำให้ทั้งชาวบ้านในชุมชนและระบบนิเวศน์ของบ้านจำรุงมีสุขภาพที่ทั้งกายและใจไม่แพ้คุณยายแน่นอน

กลุ่มเกษตรพื้นบ้านแม้จะเป็นกลุ่มเล็ก ๆ แต่ก็มีการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รายงานผลการดำเนินงานร่วมกันระหว่างสมาชิกและผู้นำชุมชนเช่นเดียวกับกลุ่มกิจกรรมอื่นในบ้านจำรุง คุณยายอุทัยบอกว่าทุกวันพุธ สัปดาห์ที่ 2 ของเดือน สมาชิกในกลุ่มจะมาประชุมร่วมกัน และประชุมร่วมกับกลุ่มอื่นในวันที่ 15 ของทุกเดือน คุณยายอุทัยและสมาชิกในกลุ่มเกษตรพื้นบ้านเรียกได้ว่าเป็นผู้ชำนาญการด้านการทำเกษตรชีวภาพ ข้อมูลเกี่ยวกับเกษตรชีวภาพของคุณยายล้วนแต่เป็นสิ่งใหม่ที่เรายังไม่เคยรู้มาก่อน คุณยายบอกว่าถ้าไม่รู้ก็ต้องอ่าน หมั่นแสวงหาความรู้อยู่เสมอ เป็นการฝึกสมองไม่ให้อ่อนล้าไปตามวัย


ทุนนิยมกับแปรรูปผลผลิตในชุมชน
หากถามคนเมืองอย่างพวกเราว่ามีสินค้าอุปโภคบริโภคชนิดใดบ้างที่เราผลิตเองและใช้เองได้ในบ้าน กว่าผู้ถามจะได้คำตอบก็คงใช้เวลานานพอควร แล้วสุดท้ายคำตอบส่วนใหญ่คงคล้ายกันคือ ไม่มีเลย เราต้องซื้อทุกอย่างจากห้างสรรพสินค้า จากตลาด หรือจากแหล่งกระจายสินค้าใดก็ตาม เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม กระแสทุนนิยมเข้าช่วงชิงความสามารถในการพึ่งตนเองของมนุษย์มานานหลายทศวรรษ ไม่เฉพาะในเขตเมืองเท่านั้น แต่ยังรุกรานมาถึงชุมชนในชนบทที่เคยมีความสามารถในการพึ่งตนเองจากทรัพยากรภายในชุมชน เมื่อราคาผลผลิตในชุมชนถูกกำหนดจากพ่อค้าและระบบเศรษฐกิจ วันใดที่ราคาพืชผลตกต่ำ เกษตรผู้ผลิตก็จะประสบปัญหาขายพืชผลไม่ได้ราคาที่เหมาะสมทันที ผู้ใหญ่ชาติชายบอกว่านั่นเพราะชุมชนพึ่งพาภายนอกมากเกินไป ระบบเศรษฐกิจ สังคมภายนอกจึงเป็นตัวกำหนดความเป็นไปในชุมชน แทนที่ชาวบ้านในชุมชนที่เป็นเจ้าของจะกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง ความไม่มั่นคงในชีวิตจึงเกิดขึ้น

ในปี พ.ศ. 2526 เมื่อบ้านจำรุงประสบกับภาวะราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ทั้งยังมีโรค มีแมลงทำลายสวนผลไม้ของชาวบ้าน เป็นประสบการณ์ที่ทำให้ความไม่มั่นคงในชีวิตอันเกิดจากการพึ่งพาภายนอกมากกว่าตนเองปรากฎเด่นชัดขึ้นภายในชุมชน จึงมีการตั้งกลุ่มสตรอาสา แม่บ้านเกษตรกรจำรุงขึ้น เพื่อรวมตัวกันแปรรูปผลผลิตตามฤดูกาลให้ขายราคาดีขึ้นและเก็บไว้ได้นานขึ้น เป็นก้าวแรกของการทำกิจกรรมกลุ่มในชุมชน เพื่อการพึ่งตนเอง และเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดราคาสินค้าแปรรูปทางการเกษตรในชุมชน โดยเริ่มจากการทำทุเรียนทอด ทุเรียนกวน ขนุนทอด กล้วยกรอบแก้ว จากของหวานจนกระทั่งมาถึงของคาว ทั้งกะปิ น้ำปลารสชาติดี สะอาด และที่สำคัญปลอดสารปนเปื้อน

เราได้เห็นการทำกิจกรรมกลุ่มที่สนุกสนานกลุ่มหนึ่งในระหว่างที่กลุ่มสตรีอาสาฯ กำลังผลิตทุเรียนทอดถุงใหญ่ให้เราดู ทุเรียนทอดกลิ่นไม่หอมแรงเท่ากับทุเรียนสด ๆ แต่รสชาติอร่อย ไม่แพ้กันเลยสักนิด ก่อนที่เราจะกินทุเรียนทอดจนหมดถุงใหญ่ คุณลุงสำเริงก็พาเราไปดูสถานที่หมักน้ำปลาของกลุ่ม โอ่งหมักน้ำปลาส่งกลิ่นแรงได้คะแนนมากกว่าทุเรียนทอดอยู่หลายขุมนัก พวกเราที่ไม่คุ้นชินกลิ่นน้ำปลาจำนวนมากเช่นนี้ ต้องตั้งสติกันอยู่ครู่หนึ่ง คุณสำเริงเดินเปิดโอ่งน้ำปลาให้เราดูสี ลักษณะ และกลิ่นของน้ำปลาที่หมักไว้ในระยะเวลาแตกต่างกัน โอ่งหมักน้ำปลาละลานตาตรงหน้าชวนให้นึกถึงข้าวสวยร้อนๆ เยาะน้ำปลาลงไปนิด ให้กลิ่นโชยขึ้นมาพร้อมกับควันข้าวหอมกรุ่น

นอกจากการแปรรูปสินค้าบริโภคแล้ว กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรจำรุงยังช่วยกันผลิตสินค้าอุปโภค เช่น แชมพูสระผมจากดอกอัญชัน น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า เพื่อการพึ่งตนเองและลดร่ายจ่ายในครอบครัว สินค้าอุปโภคบริโภคที่ได้จากการแปรรูปทั้งหมดมีจำหน่ายให้แก่ชุมชนและบุคคลภายนอกผ่านร้านค้าชุมชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น