วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

กลุ่มกิจกรรมของสมาชิก

กลุ่มผู้ใช้น้ำกับอาหารมื้ออร่อย
อาหารมื้อแรกและอีกหลาย ๆ มื้อของเราในชุมชนบ้านจำรุงมาจากความเอื้อเฟื้อของกลุ่มผู้ใช้น้ำ อีกหนึ่งกลุ่มกิจกรรมในบ้านจำรุงที่นำผักพื้นบ้าน สมุนไพรพื้นเมืองจากกลุ่มเกษตรพื้นบ้านมาปรุงอาหารมื้ออร่อยให้พวกเราทาน แต่ผู้ใหญ่ชาติชายบอกว่ากลุ่มผู้ใช้น้ำไม่ใช่เพียงแค่กลุ่มร่วมกันเฉพาะกิจเพื่อทำอาหารให้แก่ผู้มาเยือนเท่านั้น แต่ยังจัดได้ว่าเป็นกลุ่มกิจกรรมสำคัญกลุ่มหนึ่งที่มีกิจกรรมภายใต้การดำเนินงานของกลุ่มเพื่อการบริหารความเสี่ยงด้านแหล่งน้ำในชุมชน
กลุ่มผู้ใช้น้ำก่อตั้งขึ้นจากการประสบปัญหาขาดแคลนน้ำไว้ทำกิจกรรมทางการเกษตรของหมู่บ้าน พืชผัก ผลไม้ที่มีอยู่มากในชุมชนเสียหาย ล้มตาย ชาวสวนผลไม้จึงรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้นำขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2537 เพื่อจัดระเบียบการใช้น้ำของชาวสวน ร่วมกันปรับปรุง และอนุรักษ์แหล่งน้ำ เพื่อให้ชุมชนยังมีแหล่งน้ำใช้ต่อไปในวันข้างหน้าอย่างพอเพียง
รายได้จากการทำอาหารรับรองผู้มาเยือนชุมชนอย่างเราส่วนหนึ่งก็จะกลายเป็นกองทุนพัฒนาหมู่บ้าน ส่วนหนึ่งเป็นค่าแรง และส่วนหนึ่งยังเหลือเก็บเป็นเงินออมให้สมาชิกอีกด้วย เราคำนวณดูแล้วชาวบ้านจำรุงแต่ละคนมีรายได้จากหลายแหล่งมากมายเหลือเกิน ทั้งยังมีเงินออมจากรายได้ของกลุ่ม และยังสามารถแบ่งส่วนหนึ่งไปใช้ในการพัฒนาหมู่บ้านได้อีก เป็นการปันกันกิน ปันกันใช้ ปันกันเก็บร่วมกันภายในชุมชน

เก็บขยะไปฝากที่ธนาคาร
กลุ่มผู้ใช้มีธนาคารขยะเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของกลุ่ม หลังจากที่เราได้ยินชื่อครั้งแรกแล้ว เรายังไม่แน่ใจนักว่าธนาคารแห่งนี้มีพันธกิจอะไรในชุมชน “แปลงขยะให้เป็นทุน” นี่เป็น พันธกิจแรกของธนาคารขยะที่เรารับทราบมา ธนาคารขยะและสิ่งแวดล้อมแห่งชุมชนบ้านจำรุงเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นเตือนจิตสำนึกในการใช้ทุกทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้ชาวบ้านในชุมชนเห็นคุณค่าของเศษสิ่งของที่เหลือใช้ แต่ยังสามารถนำมาหมุนเวียนในชุมชนใช้ประโยชน์ได้ใหม่อีกครั้ง ขวดน้ำปลาจากกลุ่มน้ำปลาที่เราเข้าไปพิสูจน์กลิ่นมาแล้วก็รับซื้อมาจากธนาคารขยะ ชาวบ้านที่เก็บขวดน้ำปลามาไว้ที่ธนาคารขยะก็กลับมาซื้อน้ำปลาจากกลุ่มน้ำปลาอีกครั้ง ห่วงโซ่คุณค่าเล็กๆ อีกห่วงหนึ่งผ่านเข้ามาในการรับรู้ของเราอีกครั้ง

คุณลุงวินัย กว้างขวาง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านชี้ให้เราดูสภาพแวดล้อมสะอาดตาทั่วบริเวณชุมชน ถนนหนทางมีต้นไม้ขึ้นระเกะระกะแต่กลับดูเรียบร้อย นั่นคงเป็นเพราะว่าบนถนนและข้างทางมีเพียงขยะธรรมชาติ เศษใบไม้ ใบหญ้า ไร้วี่แววของขยะสังเคราะห์ ธนาคารชุมชนเกิดขึ้นจากปัญหาเหมือนกับกิจกรรมอื่น ๆ ในบ้านจำรุง เมื่อชาวบ้านในชุมชนเห็นว่ามีขยะเกลื่อนกลาดตามถนนหนทาง ยิ่งถ้าวันใดมีผู้มาดูงานด้วยแล้ว เศษสิ่งของเหลือใช้เหล่านั้นก็ยิ่งมีเพิ่มมากขึ้น บางชิ้น ยังสามารถนำใช้ใหม่ได้อีก จึงได้จัดตั้งธนาคารขยะไว้เป็นทรัพย์สินส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้ใช้น้ำ โดยมีชาวบ้านถือหุ้น ๆ ละ 100 บาท มีการปันผลกำไรกันเช่นเดียวกับผู้ถือหุ้นในธนาคารใหญ่ ๆ ธนาคารจะรับซื้อขยะทุกประเภท และนำไปคัดแยก หากขยะประเภทนำมาใช้ประโยชน์ได้ก็จะนำมาใหม่ในชุมชน เช่น ขวดน้ำปลา ส่วนขยะประเภทอื่น ๆ ก็จะมีรถรับซื้อขยะมาขนไป คุณลุงวินัยเล่าเหตุการณ์ภาพวันรับซื้อขยะให้เราฟังว่ามีทั้งผู้ใหญ่และเด็กมาต่อแถวกันเป็นจำนวนมากเพื่อนำขยะมาขาย ซึ่งก็คือฝากขยะไว้ที่ธนาคาร เงินที่ได้รับก็เป็นดอกเบี้ยบ้างครั้งได้ดอกเบี้ยดีกว่าฝากเงินในธนาคารเสียอีก ถ้าเป็นเด็ก ๆ อาจจะรับดอกเบี้ยกันวันนั้นเลย ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็จะลงบัญชีดอกเบี้ยไว้ก่อน คุณลุงวินัยบอกว่าหลังจากมีธนาคารขยะขึ้นมาเด็ก ๆ ก็จะแย่งกันเก็บขยะในชุมชนมาไว้ที่ธนาคารกันถ้วนหน้า ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดก็คือสภาพแวดล้อมในชุมชนดูสะอาดตาขึ้นมาก เรานึกถึงภาพมื้ออาหารของกลุ่มผู้ใช้น้ำ จำได้ว่าเห็นเด็กมาคอยช่วยงานและกุลีกุจอกันเก็บขยะอยู่หลายคน พอได้รู้จักธนาคารขยะ เราก็เข้าใจความขยันมุ่งมั่นของเด็ก ๆ ในวันนั้นในทันที พอเล่าให้คุณลุงวินัยฟังถึงความเข้าใจของเรา คุณลุงก็เสริมขึ้นว่านอกจากให้เด็กรู้จักวิธีการจัดการสภาพแวดล้อมในชุมชนของตนเองแล้ว ยังเป็นการปลูกฝังภาวะผู้นำและการทำกิจกรรมกลุ่มใน ตัวเยาวชนอีกด้วย เพื่อให้เด็กเหล่านี้กลายเป็นผู้นำของชุมชนและสานต่อสิ่งที่ผู้ใหญ่ปฏิบัติกันมารุ่นต่อรุ่นให้คงอยู่สืบไป

Home Stay เพื่อการเรียนรู้ชีวิตตามวิถีของชุมชน


บ้านจำรุงมีกลุ่ม Home Stay ที่รวมตัวกันเพื่อบริการที่พักในชุมชน ให้กับนักท่องเที่ยว หรือผู้ที่ต้องการมาศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตในชุมชนแห่งนี้ ป้ามะลิ รัตนวิจิตร หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม Home Stay ชวนเราไปพักที่บ้านในระหว่างการเข้ามาศึกษาทำความรู้จักชุมชนเล็ก ๆ แห่งนี้ ชาวบ้านกว่า 20 ครอบครัวเป็นสมาชิกในกลุ่ม บ้าน Home Stay ของชุมชนบ้านจำรุงก็คือบ้านของชาวบ้านที่ไม่ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรให้หรูหรา เราถามผู้ใหญ่บ้านกับป้ามะลิว่ากว่าจะมาเป็นชุมชน Home Stay อย่างที่เราเห็นกันในวันนี้ บ้านพักอาศัยแต่ละหลังต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างหรือไม่ สืบความจนได้รายละเอียดว่าเมื่อแรกเริ่มเกิดความคิดในการจัดกิจกรรม Home Stay ในชุมชน ชาวบ้านต่างประชุมกันคิดหาวิธีมากมายในการปรับปรุงสภาพบ้าน สภาพภูมิทัศน์ในชุมชน คิดปรับอย่างนั้น คิดเปลี่ยนอย่างนี้ บ้างก็คิดไปถึงการสร้างเป็นลักษณะรีสอร์ทให้ผู้มาพักได้รับความสะดวกสบายมากที่สุด ความคิดจากชาวบ้านในที่ประชุมหลั่งไหลออกมาอย่างมากมาย ยิ่งคิดกันมากเท่าไร ยิ่งมีเรื่องที่จะต้องทำกันมากเท่านั้น เวลาในการระดมสมองผ่านไปชั่วระยะหนึ่ง ชาวบ้านจำรุงจึงกลับมาพิจารณาสภาพความเป็นจริงในชุมชนกันอีกครั้ง วัตถุประสงค์แรกในการตั้งกลุ่มกิจกรรม Home Stay ก็เพื่อให้บุคคลภายนอกชุมชนเข้ามาเรียนรู้วิถีชีวิตร่วมกัน ดังนั้นชีวิตความเป็นอยู่ตามวิถีของชุมชนบ้านจำรุงต่างหากที่เป็นประสบการณ์ที่ผู้คนเหล่านั้นต้องการ โครงการใหญ่ งบประมาณมากมายทั้งหลายจึงไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป เพียงแค่ครอบครัวที่ต้องการเข้าร่วมกิจกรรม Home Stay คอยจัดทำความสะอาดบ้านให้เรียบร้อยอยู่เสมอ ส่วนใดชำรุดก็ปรับปรุงให้ใช้การได้ นอกจากจะประหยัดงบประมาณลงไปจำนวนมากแล้ว ยังเป็นการปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้ได้ประโยชน์แก่ตนเองอีกด้วย สุดท้ายแล้วงบประมาณถูกใช้จ่ายไปเพียงเพื่อการซื้อเครื่องนอน หมอน มุ้งไว้บริการในกรณีมีผู้มาพักจำนวนมากเท่านั้น ผู้ใหญ่ชาติชายบอกว่าต่างจากโครงการปรับปรุงที่พักเพื่อทำ Home Stay อย่างที่ทุกคนคิดไว้ตอนแรกมากนัก แต่ผลลัพธ์ที่ได้ยิ่งใหญ่ คุ้มค่า และตรงตามวัตถุประสงค์ของกลุ่มกิจกรรม Home Stay อย่างแท้จริง ค่าที่พัก Home Stay ราคา 120 บาทต่อคืน พร้อมอาหารเช้า คล้ายข้อความโฆษณาที่พักตามโรงแรม แต่เรายังได้เรียนรู้วิถีชีวิตที่เรียบง่ายในชุมชน ได้สนทนาวิสาสะกับผู้คนมากมาย เป็นสิ่งมีค่าที่เราได้รับมากกว่าที่พักกับอาหารเช้าตามโรงแรม ผู้ใหญ่บ้านบอกว่าเงิน 120 บาท จะถูกนำมาจัดการแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก 70 บาทมอบให้เจ้าของบ้านที่พัก ส่วนที่ 2 จำนวน 40 บาทให้เป็นค่าอาหารเช้าที่กลุ่ม Home Stay จะจัดเตรียมไว้ให้ และที่เหลืออีก 10 บาทเก็บเป็นเงินบริหารจัดการกลุ่ม เจ้าของบ้านทุกคนต้อนรับพวกเราด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เป็นอย่างยิ่ง ป้ามะลิผู้น่ารักยกถาดผลไม้มาให้เราเป็นของว่างก่อนนอน ทั้งทุเรียน เงาะ แก้วมังกร ช่างเป็นของว่างที่แสดงเอกลักษณ์ของชาวระยองเสียจริง

สัจจะออมทรัพย์ พันธะสัญญาแห่งชุมชน

หลายกลุ่มกิจกรรมในบ้านจำรุงมีการรวมเงินสัจจะออมทรัพย์และให้สิทธิการกู้เงินแก่สมาชิกในกลุ่ม เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนภายกลุ่มของตนเอง นอกจากกองทุนพัฒนาหมู่บ้านซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับการพัฒนาชุมชนแล้ว กิจกรรมสัจจะออมทรัพย์เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ตั้งอยู่บนความเชื่อใจ ไว้วางใจกันในชุมชน ทั้งผู้กู้และผู้ออมต้องตรงต่อเวลาและยืดถือสัจจะความซื่อสัตย์ร่วมกัน เราเชื่อว่ายิ่งในชุมชนมีกลุ่มสัจจะที่เข้มแข็งมากเท่าไร ความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกันในชุมชนจะปรากฎเด่นขัดมากขึ้นเท่านั้น และปรากฎผลลัพธ์เป็นผลงานการทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกันของชุมชน ดังที่เราเห็นเครือข่ายความเข้มแข็ง และความสามัคคีที่เจริญงอกงามอยู่ภายในชุมชนเล็กๆ แห่งนี้

พึ่งพิงอิงกัน แบ่งปันเพื่อนบ้าน

“นั่นเขากำลังคลำหอยกัน” ประโยคชวนแปลกใจนี้เราได้ยินจากชาวบ้านที่กำลังเตรียมอุปกรณ์ออกไปหาปูและคลำหอยกันในคลองเนินฆ้อ ผู้ใหญ่บ้านพาเราไปดูแหล่งน้ำตามธรรมชาติของตำบลเนินฆ้อที่ยังอุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยชีวิตทั่วผืนน้ำ พื้นที่ที่เรากำลังยืนดูกิจกรรมคลำหอยกันอยู่นี้ คือชุมชนหมู่ 2 เพื่อนบ้านของชุมชนบ้านจำรุง คลองเนินฆ้อเป็นคลองที่เชื่อมต่อกับปากแม่น้ำปะแสร์ บริเวณที่แห่งนี้เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอันอุดม ด้วยการร่วมใจกันอนุรักษ์ ปกป้อง หวงแหนร่วมกัน ป่าโกงกางที่อยู่ข้างหน้าเราทางฟากตรงข้ามเป็นที่ทำการของธนาคารปูแสม แม้จะไม่มีพนักงานทำการอยู่จริง ๆ แต่จำนวนปูแสมที่ถูกฝากไว้ที่ธนาคารมีมูลค่ามากมายมหาศาลจากจำนวนไข่ในท้อง ทุกคนในชุมชนนี้และชุมชนใกล้เคียงสามารถมาหาสัตว์น้ำไปขายหรือทำอาหารได้จากคลองแห่งนี้ เพียงแต่มีวิถีที่ต้องยึดถือร่วมกัน คือ เมื่อมีชาวบ้านคนใดจับปูแสมที่มีไข่อยู่ในท้องได้ก็จะนำปูตัวนั้นไปปล่อยไว้ที่บริเวณธนาคารปูแสม เพื่อให้ไข่ที่อยู่ในท้องออกมาเป็นตัวก่อน ชาวบ้านจำรุง เองก็ยึดถือหลักการนี้ร่วมกัน เราไม่เห็นตัวเงินจากการฝากธนาคารในครั้งนี้ แต่ผู้ใหญ่ชาติชายบอกว่าธนาคารแห่งนี้ให้ดอกเบี้ยมหาศาล ปูแสมมีไข่หนึ่งตัวให้กำเนิดลูกปูมากกว่าร้อยตัว ลูกปูเหล่านั้นจะกลายเป็นดอกเบี้ยที่ไม่ได้มอบให้แก่ผู้ฝากเท่านั้น แต่เป็นดอกเบี้ยสำหรับทุกคนที่ใช้ประโยชน์จากคลองแห่งนี้ เมื่อปูแสมเพื่อจำนวนขึ้น ความอุดมสมบูรณ์ในแหล่งน้ำก็ตามมา




นอกจากปลา ปูจำนวนมากในคลองเนินฆ้อแล้ว ยังมีหอยพอก หอยสองฝาตัวใหญ่ เปลืกหนา อาศัยร่วมชายคาบ้านเดียวกับฝูงปลา และฝูงปู หอยพอกหันเหความสนใจของเราไปชั่วขณะหนึ่งจากธนาคารปูแสม ด้วยวิธีการหาหอยที่เรียกว่า คลำหอย วิธีการคลำหอยก็คือการที่ผู้มาหาหอยต้องใช้มือค่อย ๆ คลำไปตามบริเวณผิวดินใต้น้ำ เมื่อสัมผัสถูกของแข็งคล้ายเปลือกหอยจึงค่อย ๆ หยิบขึ้น เพราะอากัปกิริยาที่ค่อย ๆ ควานหาหอยแบบนี้ถึงได้ชื่อว่าคลำหอย ดังนั้น เมนูอาหารเย็นเมนูหนึ่งของเราในวันนี้จึงต้องมีหอยพอกย่างที่เรานำเอากลับมาจากคลอง เนินฆ้อด้วยอย่างแน่นอนบ้านจำรุงสร้างเครือข่ายกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมภายนอกชุมชน เนื่องจากความเป็นไปภายนอกชุมชนย่อมส่งผลต่อความเป็นอยู่ภายในชุมชนเช่นกัน ถัดจากธนาคารปูแสมที่หมู่บ้านหมู่ 2 แล้ว ผู้ใหญ่บ้านพาเราถึงชายทะเลที่ชุมชนหมู่ 4 ตำบลเนินฆ้อ จากคลองเนินฆ้อสู่ทะเลอ่าวไทยมีระยะทางไม่ไกลกันเท่าไรนัก แต่ภาพที่เราเห็นกลับแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทะเลสีฟ้ากว้างเวิ้งว้าง เส้นขอบฟ้าลากยาวสุดสายตา กลิ่นอายน้ำเค็มฟุ้งกระจายอยู่ทั่วไป ไม้ต้นใหญ่หนึ่งต้นยืนโดดเดี่ยวอยู่ริมหาด จากสิ่งที่ปรากฎอยู่ในสายตาชุมชนหมู่ที่ 4 เป็นเพื่อนบ้านที่มีสภาพแวดล้อมต่างบ้านจำรุงเป็นอย่างมาก มัคคุเทศน์ร่างสูงผอมแห่งหมู่ที่ 4 บอกเราว่าปลาในอ่าวไทยบริเวณนี้ได้อยู่อาศัยในบ้านที่สร้างจากฝีมือมนุษย์ เพราะมนุษย์เป็นผู้ทำลายปะการังที่อยู่อาศัยของปลา ทำให้ปลาจำนวนมากไร้บ้านอยู่ เมื่อสำนึกผิดก็ต้องมาทำปะการังเทียมให้พวกเขาแทน ซึ่งปะการังเทียมที่ชาวบ้านทำขึ้นก็สร้างมาจากแท่นคอนกรีตต่อกันเป็นท่อน ๆ แล้วนำไปปล่อยไว้ในทะเล เพื่อให้ปลาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและเพาะพันธ์ต่อไป (เมื่อก่อนชาวบ้านใช้ยางรถยนต์มาทำเป็นปะการังเทียมเรียกว่าเต๋ายาง แต่เต๋ายางมักไม่ทน เมื่อถูกปล่อยลงไปในทะเลช่วงระยะเวลาหนึ่ง ยางรถยนต์จะหลุดลอยหาย จึงเปลี่ยนมาใช้คอนกรีตที่ทนกว่าแทน ผู้ใหญ่ชาติชายบอกว่าทั้งชุมชนหมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 4 ต่างเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกันกับชุมชนบ้านจำรุง เพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสารและร่วมกันทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม คุณน้ามัคคุเทศน์ ชี้ให้เราดูต้นไม้ต้นที่ยืนเดี่ยวดายกลางแสงแดด ต้นที่เราสังเกตเห็นตอนแรก ว่าเป็นอนุสรณ์เตือนใจให้ตระหนักถึงอำนาจการทำลายจากน้ำมือมนุษย์ ต้นไม้ต้นนี้กำลังจะฟื้นคืนชีพขึ้นมาพร้อมกับปริมาณปลาที่แวกว่ายอย่างมีความสุขในทะเลอ่าวไทย

ร่วมสร้างเครือข่ายแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน

กระบวนการทำงานของกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชนบ้านจำรุงแม้จะมีการบริหารงานอย่างเป็นอิสระ แต่ก็มีการประสานเครือข่ายกันระหว่างกลุ่มกิจกรรมเพื่อเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน กับองค์กรภายนอกก็เช่นกัน ชุมชนบ้านจำรุงมีการประสานงานกับเครือข่ายต่าง ๆ ภายนอกหมู่บ้านทั้งกรมการพัฒนาชุมชน กองทุนเพื่อสังคม กระทรวงสาธารณสุข สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน หรือแม้แต่กองทุนเพื่อสังคม (เป็นหน่วยงานที่เข้ามาสนับสนุนกิจกรรมของหมู่บ้านและจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชนและผู้สูงอายุบ้านจำรุงขึ้นมา) เพื่อเผยแพร่กิจกรรมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ให้องค์ความรู้ต่าง ๆ ในชุมชนไหลเวียนจากภายในไปสู่ภายนอก และชุมชนสามารถนำองค์ความรู้จากหน่วยงานภายนอกเข้ามาพัฒนาชุมชนอย่างสม่ำเสมอให้สอดคล้องกับสภาพชุมชนและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง ขณะนี้บ้านจำรุงได้ยกระดับศูนย์การเรียนรู้ชุมชนและผู้สูงอายุให้เป็นศูนย์ถ่ายทอดความรู้ในนามวิทยาลัยบ้านนอกเพื่อการเรียนรู้ของสังคม ภายใต้โครงการร่วมกับมหาวิทยาลัยชีวิต สถาบันวิสาหกิจชุมชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยราชภัฏ ดังนั้นกระบวนการเรียนรู้ภายในชุมชนบ้านจำรุง จึงไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่ภายในชุมชน แต่ยังขยายขอบเขตไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ภายนอกอีกมากมาย ผู้ใหญ่ชาติชายเคยกล่าวกับเราเอาไว้ว่า


“การเรียนรู้เป็นสิ่งที่ต้องแลกเปลี่ยนร่วมกัน ชุมชนเอาจากเขาอย่างเดียวไม่ได้ เขาก็ไม่ควรเขามากอบโกยจากเราไปอย่างเดียวกัน ต้องมีอะไรมาแลกเปลี่ยนกัน ไม่อย่างนั้นชุมชนจะเติบโตอย่างสมดุลไม่ได้”



วิทยุชุมชน สื่อชุมชน เพื่อชุมชน โดยชุมชน

บ้านจำรุงเป็นชุมชนหนึ่งที่มีสื่อเป็นของตนเองโดยใช้วิทยุชุมชนเป็นสื่อกลาง จากเดิมที่มีการเผยแพร่เสียงตามสายในชุมชนอยู่แล้ว ก็ได้พัฒนาขึ้นกลายเป็นวิทยุชุมชนด้วยการสนับสนุนตามนโยบายของกองทุนเพื่อสังคม เพื่อให้ชุมชนสามารถผลิตสื่อวิทยุชุมชนได้ด้วยตนเอง เริ่มแรกเมื่อตั้งกลุ่มวิทยุชุมชนขึ้นมีจำนวนสมาชิก 15 คน ก็ได้ส่งสมาชิกเข้าไปอบรมการเตรียมความพร้อมเพื่อออกอากาศ เทคนิคการจัดรายการ การบริหารจัดการสถานี การดำเนินการเตรียมความพร้อมทั้งหมดเป็นไปในระยะเวลา 1 ปีเต็ม ในระหว่างนั้นผู้คนในชุมชนก็เริ่มให้ความสนใจมากขึ้นในที่สุดกองทุนเพื่อสังคมได้มอบงบประมาณ 100,000 บาท เพื่อนำไปจัดซื้อเครื่องส่งและอุปกรณ์ต่างๆ จนกระทั่งวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2545 วิทยุชุมชนแห่งบ้านจำรุงจึงได้ทดลองออกอากาศเป็นครั้งแรก

วิทยุชุมชนบ้านจำรุงออกอากาศที่คลื่นความถี่ FM 103.75 MHz มีพื้นที่ครอบคลุมประมาณ 10 ตำบล ในรัศมี 15 กิโลเมตร มีรายการออกอากาศทุกวันๆ ละ 3 ชั่วโมง มีรายการกว่า 33 รายการต่อสัปดาห์ และอาสาสมัครผู้ผลิตรายการวิทยุในชุมชนมากกว่า 100 คน มีชาวบ้านที่ได้การฝึกอบรมการดูแลเครื่องส่งสัญญาณเป็นช่าวเทคนิคผู้ดูแลและรักษาเครื่องส่ง ชาวบ้านที่มีความสนใจสามารถเสนอเข้ามาจัดรายการที่เป็นประโยชน์เผยแพร่แก่ชุมชน ส่งเสริมค่านิยมในท้องถิ่นก็สามารถทำได้ หรือกลุ่มกิจกรรมใดต้องการมีรายการเพื่อประชาสัมพันธ์หรือรณรงค์กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของกลุ่มก็สามารถทำได้ โดยสภาหมู่บ้านจะเป็นผู้กำหนดแนวทางข่าวสารทางเลือกในชุมชน



“ถ้าอยากฟังเพลงฮิตก็หมุนคลื่นอื่น ที่นี่ถ้าไม่เปิดพื้นที่ให้เรื่องราวของตนเอง ก็ไม่รู้จะมีที่ไหนเปิดได้” ผู้ใหญ่ชาติชาย เหลืองเจริญ


ชาวบ้านทุกคนในบ้านจำรุงคือ เจ้าของวิทยุชุมชนแห่งนี้ เป็นท่านเจ้าของสถานีที่เคารพของผู้จัดรายการทุกคน เราทราบมาว่าวิทยุชุมชนแห่งนี้มีธรรมนูญชุมชนเป็นของตนเอง 5 ประการคือ หนึ่ง วิทยุชุมชนเป็นของสาธารณะ ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน มีสิทธิใช้และต้องดูแลรักษาร่วมกัน สอง ไม่ใช้วิทยุชุมชนเป็นช่องทางในการหารายได้เพื่อโฆษณา สาม คณะกรรมการวิทยุชุมชนต้องให้คำปรึกษาอย่างโปร่งใส สี่ สมาชิกทุกเพศ วัย การศึกษาสามารถเข้ามาเรียนรู้ร่วมกันได้อย่างไม่จำกัด และ ห้า การนำเสนอสารระในรายการวิทยุต้องเป็นปเพื่อส่งเสริมวิถีชีวิต ค่านิยมอันดีงามในชุมชน และประโยชน์แก่ส่วนรวม
“คนอื่นฟังธรรมดา แต่คนบ้านจำรุงฟังแล้วรู้สึกเป็นเจ้าของ” ความรู้สึกเป็นเจ้าของที่ว่านั้น สะท้อนผ่านความสำเร็จในการดำเนินงานวิทยุชุมชนที่มีมาตลอด 5 ปี
คุณพี่บุญช่วย เครือวัลย์ อาสาสมัครจัดรายการวิทยุ ผู้ผลิตรายการบัวบานสีขาว บอกกับเราว่าพี่เขาดั้งด้นมาจากตำบลอื่นไกลกว่า 10 กิโลเมตร เพื่อมาจัดรายการ มาแบ่งปันสิ่งดี ๆ เรื่องราวดี ๆ ให้ทุกคนในชุมชนได้ฟังกัน วันที่เราได้มีโอกาสคุยกับพี่บุญช่วย เป็นวันที่สถานีงดออกอากาศเพราะช่างเทคนิคผู้ดูแลการออกอากาศไม่อยู่ ระยะทางที่มาไกลหลายกิโลเมตรไม่ได้ทำให้พี่บุญช่วยขุ่นข้องหมองใจแต่อย่างใด มีเพียงคำว่า “ไม่เป็นไร” ออกมาจากปากนักจัดรายการวิทยุผู้มุ่งมั่นผู้นี้ แม้ว่าวันนั้นจะไม่ได้มีโอกาสเห็นและฟังการจัดรายการ แต่ถ้ามีโอกาสเข้าเขตตำบลเนินฆ้ออีกเมื่อไร เราจะลองหมุนคลื่นมาที่สถานีวิทยุชุมชนตัวจริงแห่งนี้อีกครั้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น