วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

มหาวิทยาลัยบ้านนอก (มุมมองของสื่อ)

มหาวิทยาลับ้านนอก บ้านจำรุง

ขณะที่หลายคนดิ้นรนจะมาเรียนมหา วิทยาลัยชื่อดังในกรุงเทพฯ แต่ชาวบ้าน จำรุง ต.เนินฆ้อ อ.แกลง จ.ระยอง กลับภูมิใจกับ "มหาวิทยาลัยบ้านนอก" ที่พวกเขาชาวไร่ชาวนาช่วยกันตั้งขึ้น
เพื่อเป็นพื้นที่เรียนรู้การเกษตร และวิถีชีวิตที่พึ่งพาตนเองตามธรรมชาติ ในแบบฉบับชาวบ้านแท้ๆ และพัฒนาจนโด่งดัง จนแต่ละวันมีผู้เดินทางมาศึกษาดูงานไม่ต่ำกว่าพันคน
ภายในมหาวิทยาลัยบ้านนอก ประกอบด้วยศูนย์รวมผลผลิตทางการเกษตร คือสินค้าของฝาก โอท็อปโบราณ ได้แก่ น้ำพริกกะปิ น้ำปลาดีชั้นหนึ่ง ทุเรียนทอด พืชผัก สมุนไพรพื้นบ้าน รวมทั้งผลไม้ทั้งมังคุด เงาะ สละ แก้วมังกร มะยงชิด ลองกองที่ผิวไม่สวยแต่หวานกรอบ และปราศจากสารเคมี
ทั้งยังมีแหล่งผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ที่ชาวบ้านร่วมมือกันผลิตใช้เองในหมู่บ้าน แบ่งการศึกษาเป็นโซนต่างๆ เช่น กลุ่มผลิตกะปิ-น้ำปลา กลุ่มเกษตรพื้นบ้าน กลุ่มชาวนา เป็นต้น เพื่อสะดวกต่อการเผยแพร่ให้ความรู้กับผู้มาเยือน
นายมานพ กว้างขวาง หรือ "ลุงใจ" สมาชิกสภาเทศบาลตำบลเนินฆ้อ หนึ่งในคณะทำงานเครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง เล่าจุดเริ่มต้นว่า บ้านจำรุงเป็นหมู่บ้านเล็กๆ สมาชิกเหมือนเป็นคนครอบครัวเดียวกันทั้งหมด แต่เดิมมีลุงสำเริง ดีนาน เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง "โอท็อปโบราณ" ก่อนจะพัฒนาเป็นศูนย์โอท็อปชาวบ้าน นำสินค้าผลผลิตทางการเกษตรในชุมชนมาขาย
นอกจากนี้ ยังเปิดแหล่งท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ มีรถพาชมสวน ได้ทั้งการพักผ่อนใกล้ชิดธรรมชาติ และความรู้จากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแบบชาวบ้าน ทั้งเกษตรพื้นบ้านไร้สารเคมี เกษตรธรรมชาติกองทัพมด เป็นตัวอย่างนำกลับไปใช้ได้จริง
โดยเริ่มลงมือทำตั้งแต่ปีพ.ศ.2529 กระทั่งมีผลงานเป็นรูปธรรม ด้วยความร่วมมือของชาวบ้านที่เข้มแข็ง จากที่ประชุมกันในครัวเรือน กลายเป็นเครือข่ายองค์กรบ้านจำรุง ที่มีการประชุมร่วมกันทุกวันที่ 15 ของเดือน เป็นเวทีสาธารณะ หรือเวทีชาวบ้าน ที่มีทั้งเด็ก เยาวชน และคนแก่ เข้าร่วม
ต่อมาปี พ.ศ.2549 จึงจัดตั้งเป็น "มหาวิทยาลัยบ้านนอก" เพื่อการเรียนรู้ของสังคม กระทั่งได้รับรางวัล "หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงอยู่เย็นเป็นสุข" จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
จากนั้นก็มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาศึกษาหาความรู้กันอย่างไม่ขาดสาย เป็นสิ่งที่ชาวบ้านภาคภูมิใจ
ด้าน นายชื่น ดีนาน อายุ 52 ปี คณะทำงานเครือข่ายอีกคนหนึ่ง ร่วมอธิบายว่า ความไว้เนื้อเชื่อใจกันของชาวบ้านจำรุงเป็นสิ่งสำคัญ ไว้ใจกันแค่ไหนนั้น เห็นได้จากการวางกระปุกเงินไว้ให้คนในชุมชน ที่ต้องการซื้อข้าวของขณะที่คนขายไปธุระ เพียงแค่เห็นราคาที่ติดไว้ก็ให้หยิบไปได้ แต่ต้องหยอดเงินใส่กระปุกตามราคาของ ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่มีใครลักขโมยสินค้าแต่อย่างใด บ้างอาจหยอดเกินจำนวนด้วยซ้ำ ถือว่าเป็นการช่วยเหลือ เพื่อนำเงินมาสนับสนุนการพัฒนาศูนย์เรียนรู้เครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง มหาวิทยาลัยบ้านนอก
ปี พ.ศ.2546 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ได้เข้ามาช่วยเหลือด้านงบประมาณในการจัดกิจกรรมของชาวบ้านจำรุง และปีที่ผ่านมายังได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากจังหวัดระยอง ในการก่อสร้างโรงเรือนเรียกว่า "ธนาคารต้นไม้"
เพื่อเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้เรื่องพืชเศรษฐกิจ อาทิ ต้นมังคุด ต้นมะยงชิด กล้ายาง ต้นกระวาน และพืชสมุนไพรต่างๆ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถหาซื้อได้ หรือถ้าต้องการต้นกล้าจำนวนมากก็สั่งจองได้ในราคาย่อมเยาว์
นายชื่นบอกเคล็ดลับว่า ความสำเร็จของมหาวิทยาลัยบ้านนอกในวันนี้ เป็นผลจากการที่ชาวบ้านจำรุงดำเนินชีวิตบนวิถีเกษตรแบบพึ่งตนเอง เคารพธรรมชาติ รู้จักใช้ธรรม ชาติอย่างพอเพียง ไม่ขาดไม่เกินจนล้น บวกกับความ เชื่อที่ว่า ต้องยืนบนลำแข้งตัวเองให้ได้ ก่อนที่จะยื่นมือขอให้ใครเข้ามาช่วย เพราะเมื่อเข้มแข็งแล้ว ทางหน่วยงานก็จะเข้ามาส่งเสริมเอง
"แบบฉบับของบ้านจำรุงคือ คน ดิน น้ำ ป่า เป็นทรัพยากรสำคัญที่มีอยู่แล้ว คำว่าคนของที่นี่ คือความเชื่อใจกัน เคารพซึ่งกันและกัน ตั้งมั่นอยู่บนรากฐานของความมีคุณธรรม จริยธรรม และจิตสำนึกที่ดีร่วมกัน" ลุงใจกล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผู้ที่สนใจศึกษา เรียนรู้วิถีชุมชนบ้านจำรุง (มหาวิทยาลัยบ้านนอก) สามารถติดต่อไปที่ศูนย์ประสานงาน เครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง หมู่ 7 ต.เนินฆ้อ อ.แกลง จ.ระยอง หรือเข้าดูข้อมูลที่ www.banjumrung.org หรืออีเมล์ chartchai04@gmail.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น