วันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ร้านค้าชุมชน จุดเริ่มต้นของวงจรแห่งการพัฒนา


จากการระดมหุ้นกันครั้งแรกเพื่อจัดตั้งร้านค้าชุมชนขึ้น กองทุนพัฒนาหมู่บ้านได้เงินทั้งสิ้น 30,000 บาท และมีสมาชิกเป็นคนในชุมชน 120 คน ร้านค้าหมู่บ้านดำเนินการในลักษณะสหกรณ์ชุมชน เพื่อจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ทั้งจากภายนอก และสินค้าการเกษตร ผลผลิต สินค้าแปรรูปที่ผลิตได้ในชุมชนเอง ร้านค้าชุมชนจึงเป็นช่องทางในการจำหน่ายสินค้าจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภคโดยตรง ผู้ใหญ่ชาติชายบอกว่าบ้านจำรุงมีวงจรการผลิต จำหน่าย และบริโภคกันในชุมชน ถ้าชาวบ้านในชุมชนเข้าใจถึงความสำคัญของระบบเศรษฐกิจชุมชน บ้านจำรุงก็จะสามารถพึ่งตนเองได้ ไม่ต้องกังวลว่าเมื่องผลิตมาแล้วจะขายให้ใคร หรือเราต้องไปซื้อสินค้าจากใคร เพราะบ้านจำรุงสามารถสร้างผลิต ขาย และบริโภคได้เอง ผลกำไรที่ได้ก็ไหลเวียนอยู่ในชุมชน เป็นเงินที่จะใช้พัฒนาชุมชนต่อไป ร้านค้าชุมชนตั้งอยู่บนพื้นที่เดียวกับศูนย์การเรียนรู้ของชุมชนและผุ้สูงอายุบ้านจำรุง สถานที่แรกที่เราได้พบกับผู้ใหญ่บ้านชาติชาย เป็นทั้งสถานที่ทำงานและพักผ่อนหย่อนใจของชาวบ้านจำรุง และเป็นที่ที่เราได้เห็นรอยยิ้ม ได้ยินเสียงหัวเราะดังอยู่เป็นระยะ ๆ จนเราอดอมยิ้มตามไปด้วยไม่ได้ ร้านค้าชุมชนเล็กแห่งนี้มีกำไรเพิ่มขึ้น ทุกปี มียอดขายปีละหลายล้านบาท เมื่อถึงเวลาปันผลประจำปี ผลกำไรที่ได้จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกร้อยละ 30 จะเก็บเป็นกองทุนพัฒนาหมู่บ้าน ร้อยละ 35 จ่ายคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นตามจำนวนหุ้น และอีกร้อยละ 35 จ่ายคืนให้แก่ผู้ซื้อสินค้า ตามสัดส่วนการซื้อ ซื้อมากได้มาก ซื้อน้อยได้พอประมาณ พอได้ยินเรื่องจำนวนเงินปันผลแล้วเราก็กระซิบถามผู้ใหญ่บ้านว่าคนนอกเข้าหุ้นด้วยได้หรือไม่ ผู้ใหญ่ชาติชายตอบทันควันว่าได้แน่นอน ที่ผ่านมาก็มีชาวบ้านหมู่อื่นมาเข้าหุ้นด้วย แล้วถึงแม้ว่าจะมีร้านค้าชุมชนแล้ว แต่บางครอบครัวก็อาจจะเปิดร้านค้าอย่างเดียวกันนี้อีกก็ได้ ไม่ได้มีการบังคับหรือจะเป็นการขัดใจกันอย่างไร เพียงแต่ให้ระบบเศรษฐกิจชุมชนนี้ยังคงอยู่ และเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ อย่างน้อยก็เป็นการแบ่งกันปันกันในชุมชน และกระตุ้นให้เกิดวงจรการพัฒนา อื่น ๆ ตามมาอีกมากมายจากผลกำไรของร้านค้าชุมชนที่อยู่ในกองทุนพัฒนาหมู่บ้าน เพราะชุมชน มีกองทุน มีเงินที่จะลงทุนทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้เกิดเป็นผลผลิตที่สอดคล้องกับเหตุและผลตามแนวทางวิถีชีวิตของตนเอง เราจะได้พบเห็นลักษณะการดำเนินงานแบบร่วมมือร่วมใจ รู้เก็บ รู้แบ่งปันอย่างเดียวกับร้านค้าชุมชนนี้ในกลุ่มกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมายมากกว่า 20 กลุ่มกิจกรรม ในชุมชนบ้านจำรุง

คนในชุมชนเดียวกันต้องรู้เท่ากัน


ผู้ใหญ่บ้านชาติชายแนะนำว่าถ้าเราต้องการรู้เรื่องอะไรในชุมชน ก็ให้ถามใครก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มกิจกรรมไหนก็ตาม คนในชุมชนตอบได้หมด เพียงแต่ถ้าต้องการรายละเอียดมาก ๆ ก็ให้ถามแกนนำของกลุ่มนั้น ๆ แต่โดยทั่วไปแล้วทุกคนในบ้านจำรุงจะรู้เรื่องเดียวกัน เท่า ๆ กัน ผู้ใหญ่บ้านเล่าว่าบ้านจำรุงใช้วิธีการบริหารระดับสูง คือไม่บริหารเลย อำนาจการบริหารไม่ได้อยู่ที่ผู้ใหญ่บ้านเพียงคนเดียว ชาวบ้านทุกคนต้องบริหารจัดการร่วมกัน เป็นเครือข่ายของกันและกัน “คนในชุมชนเดียวกันต้องรู้เท่ากัน” ไม่ว่าจะมีกลุ่มกิจกรรมเกิดขึ้นมามากเท่าไร่ ทุกกลุ่มกิจกรรมก็ต้องมาประชุมสภาหมู่บ้านร่วมกันทุกวันที่ 15 ของเดือนเวลาบ่ายโมงตรง ร่วมกับผู้นำชุมชน และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นๆ เพื่อกำหนดแผนงานทิศทางการทำงานของชุมชนร่วมกัน ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นได้ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เข้าใจซึ่งกันและกัน ผู้ใหญ่บ้านบอกว่า

“ทุกเรื่อง ทุกปัญหาที่ต้องใช้การตัดสินใจเพื่อส่วนรวมจะถูกส่งเข้าสภาหมู่บ้าน แล้วใช้การตัดสินใจแบบมีส่วนร่วมให้มากที่สุด”

ถ้าเรื่องใดยังลงมติกันไม่ได้ ก็ให้นำมาพูดคุยกันใหม่ในเดือนถัดไป แนวทางการปฏิบัติเช่นนี้จะสร้างการมีส่วนร่วมและความสามัคคีกันภายในชุมชน ดังนั้นไม่ว่ากลุ่มกิจกรรมใดจะขอความร่วมมือจากชาวบ้านจำรุงก็จะได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี ในระหว่างการเดินทางเรียนรู้ในชุมชน เราจึงได้พบกับมัคคุเทศน์ใจดีมากมายรายเรียงพร้อมที่จะให้คำตอบกับทุกคำถามของเราได้ตลอดเส้นทาง
กลุ่มกิจกรรมที่มีมากกว่า 20 กลุ่มในบ้านจำรุงนั้น ชาวบ้านจำรุงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าแทบจะนับไม่ทัน เพราะมีกลุ่มกิจกรรมเกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา ชาวบ้านในชุมชนจะสังกัดกลุ่มอย่างน้อย 1 กลุ่ม เพราะอย่างน้อยที่สุดก็ต้องมีกลุ่มอาชีพของแต่ละคน เช่น กลุ่มผู้เลี้ยงตะพาบน้ำ กลุ่มรวมซื้อรวมขายยางพารา กลุ่มน้ำปลา กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรจำรุง หรือแม้แต่ผู้สูงอายุเยาวชน และผู้พิการในชุมชนก็ยังมีกลุ่มของตนเองในการทำกิจกรรมตามความถนัดและความสนใจภายในกลุ่ม เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเยาวชน แล้วยังมีกลุ่มรักษ์วัฒนธรรมทองถิ่นที่รวมตัวกันเพื่อสันทนาการตามเทศกาล เช่น ในงานมหกรรมว่าว หรือเป็นที่รวมผู้ทำกิจกรรมพื้นบ้านต่าง ๆ กลุ่มกิจกรรมทั้งหลายในบ้านจำรุงสามารถแบ่งคร่าว ๆ ได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มกิจกรรมการผลิต กลุ่มกิจกรรมของสมาชิกชุมชน และกลุ่มกิจกรรมเชิงวัฒนธรรม

วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

กลุ่มกิจกรรมการผลิต


การรวมกลุ่มเกษตรกร เพื่อสร้างเครือข่ายความเข้มแข็ง
กลุ่มกิจกรรมการผลิตกลุ่มแรก และคาดว่าจะเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดก็คือการกลุ่มต่าง ๆ ของเกษตรและชาวสวน ในชุมชนบ้านจำรุงมีการรวมกลุ่มของเกษตรกร ชาวสวน กลุ่มต่างมากมายตามกลุ่มอาชีพของแต่ละคน อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าบางคนอาจสังกัดมากกว่า 1 กลุ่ม เพื่อสร้างเครือข่าย สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรชาวสวนในชุมชน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน และยังเป็นเครือข่ายกับกลุ่มกิจกรรมอื่น ๆ ได้อีก อย่างที่ผู้ใหญ่บ้านบอกเราว่าที่บ้านจำรุงไม่มีสิ่งใดเหลือใช้หรือสูญเปล่า ถ้าเก็บนำมาใช้ในกระบวนการใดได้ก็จะถูกส่งต่อให้กับกลุ่มกิจกรรมที่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ อย่างเช่น เศษแกลบ เศษรำจากโรงสีข้าวชุมชนของกลุ่มผู้สูงอายุก็จะถูกส่งต่อให้กลุ่มเกษตรพื้นบ้านนำมาทำปุ๋ยอินทรีย์ และน้ำหมักชีวภาพ กลุ่มเกษตรกรชาวสวนก็จะนำปุ๋ยอินทรีย์และน้ำหมักชีวภาพจากกลุ่มเกษตรพื้นบ้านที่ขายในร้านค้าชุมชนมาใช้ ส่วนปลายข้าวที่เหลือจากกลุ่มผู้สูงอายุก็ถูกส่งต่อให้กลุ่มผู้ใช้ตะพาบน้ำเช่นกัน ทั้งเกษตรกรชาวสวนและกลุ่มผู้เลี้ยงตะพาบน้ำร่วมถึงชาวบ้านจำรุงทุกคนก็จะได้ทานข้าวจากกลุ่มผู้สูงอายุที่ขายในร้านค้าชุมชน เราตื่นเต้นและทึ่งกับวงจรความสัมพันธ์นี้ไปชั่วขณะ ก่อนที่จะนึกขึ้นได้ว่ายังไม่จบเพียงนั้นเพราะเมื่อถึงเวลาที่ร้านค้าชุมชนจะปันผลทุกคนก็จะได้รับเงินปันผลจากยอดการซื้อของตัวเองอีกด้วย ผู้ใหญ่บอกว่า ถ้าเป็นนักวิชาการอาจเรียกว่าห่วงโซ่แห่งคุณค่าก็ว่าได้


กลุ่มเกษตรพื้นบ้านเพื่อสุขภาพชุมชน
ผู้ใหญ่ชาติชายบอกว่าบทเรียนที่ได้รับจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ประกอบกับข้อมูลที่ได้จากการเก็บข้อมูลในชุมชน ทำให้ชุมชนบ้านจำรุงเลิกการใช้สารเคมีหันกลับมาหาองค์ความรู้และภูมิปัญญาที่มีอยู่ในชุมชน เรียนรู้ที่จะพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติของตนเอง มีระบบทุนนิยมของตนเอง ทุนทางสังคมนิยมกับทุนวัฒนธรรมนิยม บทเรียนจากพืชเชิงเดี่ยวและสารเคมีเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญครั้งหนึ่งของบ้านจำรุง ชุมชนเริ่มทำความเข้าใจกับการทำการเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อปรับสมดุลให้กับระบบนิเวศน์และสุขภาพชุมชน กลุ่มเกษตรพื้นบ้านจึงถือกำเนิดขึ้นในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 จำนวนสมาชิกแรกก่อตั้ง 10 คน เพื่อดำเนินการส่งเสริมการทำเกษตรแบบปลอดสารพิษในชุมชน ทำปุ๋ยหมัก สกัดสารชีวภาพเพื่อไล่แมลง รวมทั้งทำน้ำหมักชีวภาพไว้ใช้ในกลุ่มและจำหน่ายให้ผู้สนใจ และที่สำคัญที่สุดคือกลุ่มเกษตรพื้นบ้านเป็นกลุ่มที่ปลูกผักพื้นบ้านปลอดสารพิษจากแปลงเกษตรสาธิตแล้วนำไปขายให้กับร้านส้มตำจำรุง เอาไว้บริการให้ชาวบ้านในชุมชนและนักท่องเที่ยวได้ทานคู่กับส้มตำ บางส่วนกระจายขายในชุมชนโดยคุณป้าหน่วงพนักงานขายผักพื้นบ้านในชุมชน และทำน้ำดอกอัญชันสีสวยใสไว้ให้แก่นักเดินทางอย่างเราดื่มให้ชื่นใจ กลุ่มเกษตรพื้นบ้านเป็นเจ้าของรายการวิทยุชุมชนรายการหนึ่งเพื่อใช้ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้และรณรงค์เกี่ยวกับการทำเกษตรปลอดสารพิษในบ้านจำรุง คุณยายอุทัย ประธานกลุ่มและนักจัดรายการวิทยุของกลุ่มเป็นตัวอย่างที่ทำให้เราเชื่อว่าผักปลอดสารพิษและผักพื้นบ้านต้องทำให้ทั้งชาวบ้านในชุมชนและระบบนิเวศน์ของบ้านจำรุงมีสุขภาพที่ทั้งกายและใจไม่แพ้คุณยายแน่นอน

กลุ่มเกษตรพื้นบ้านแม้จะเป็นกลุ่มเล็ก ๆ แต่ก็มีการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รายงานผลการดำเนินงานร่วมกันระหว่างสมาชิกและผู้นำชุมชนเช่นเดียวกับกลุ่มกิจกรรมอื่นในบ้านจำรุง คุณยายอุทัยบอกว่าทุกวันพุธ สัปดาห์ที่ 2 ของเดือน สมาชิกในกลุ่มจะมาประชุมร่วมกัน และประชุมร่วมกับกลุ่มอื่นในวันที่ 15 ของทุกเดือน คุณยายอุทัยและสมาชิกในกลุ่มเกษตรพื้นบ้านเรียกได้ว่าเป็นผู้ชำนาญการด้านการทำเกษตรชีวภาพ ข้อมูลเกี่ยวกับเกษตรชีวภาพของคุณยายล้วนแต่เป็นสิ่งใหม่ที่เรายังไม่เคยรู้มาก่อน คุณยายบอกว่าถ้าไม่รู้ก็ต้องอ่าน หมั่นแสวงหาความรู้อยู่เสมอ เป็นการฝึกสมองไม่ให้อ่อนล้าไปตามวัย


ทุนนิยมกับแปรรูปผลผลิตในชุมชน
หากถามคนเมืองอย่างพวกเราว่ามีสินค้าอุปโภคบริโภคชนิดใดบ้างที่เราผลิตเองและใช้เองได้ในบ้าน กว่าผู้ถามจะได้คำตอบก็คงใช้เวลานานพอควร แล้วสุดท้ายคำตอบส่วนใหญ่คงคล้ายกันคือ ไม่มีเลย เราต้องซื้อทุกอย่างจากห้างสรรพสินค้า จากตลาด หรือจากแหล่งกระจายสินค้าใดก็ตาม เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม กระแสทุนนิยมเข้าช่วงชิงความสามารถในการพึ่งตนเองของมนุษย์มานานหลายทศวรรษ ไม่เฉพาะในเขตเมืองเท่านั้น แต่ยังรุกรานมาถึงชุมชนในชนบทที่เคยมีความสามารถในการพึ่งตนเองจากทรัพยากรภายในชุมชน เมื่อราคาผลผลิตในชุมชนถูกกำหนดจากพ่อค้าและระบบเศรษฐกิจ วันใดที่ราคาพืชผลตกต่ำ เกษตรผู้ผลิตก็จะประสบปัญหาขายพืชผลไม่ได้ราคาที่เหมาะสมทันที ผู้ใหญ่ชาติชายบอกว่านั่นเพราะชุมชนพึ่งพาภายนอกมากเกินไป ระบบเศรษฐกิจ สังคมภายนอกจึงเป็นตัวกำหนดความเป็นไปในชุมชน แทนที่ชาวบ้านในชุมชนที่เป็นเจ้าของจะกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง ความไม่มั่นคงในชีวิตจึงเกิดขึ้น

ในปี พ.ศ. 2526 เมื่อบ้านจำรุงประสบกับภาวะราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ทั้งยังมีโรค มีแมลงทำลายสวนผลไม้ของชาวบ้าน เป็นประสบการณ์ที่ทำให้ความไม่มั่นคงในชีวิตอันเกิดจากการพึ่งพาภายนอกมากกว่าตนเองปรากฎเด่นชัดขึ้นภายในชุมชน จึงมีการตั้งกลุ่มสตรอาสา แม่บ้านเกษตรกรจำรุงขึ้น เพื่อรวมตัวกันแปรรูปผลผลิตตามฤดูกาลให้ขายราคาดีขึ้นและเก็บไว้ได้นานขึ้น เป็นก้าวแรกของการทำกิจกรรมกลุ่มในชุมชน เพื่อการพึ่งตนเอง และเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดราคาสินค้าแปรรูปทางการเกษตรในชุมชน โดยเริ่มจากการทำทุเรียนทอด ทุเรียนกวน ขนุนทอด กล้วยกรอบแก้ว จากของหวานจนกระทั่งมาถึงของคาว ทั้งกะปิ น้ำปลารสชาติดี สะอาด และที่สำคัญปลอดสารปนเปื้อน

เราได้เห็นการทำกิจกรรมกลุ่มที่สนุกสนานกลุ่มหนึ่งในระหว่างที่กลุ่มสตรีอาสาฯ กำลังผลิตทุเรียนทอดถุงใหญ่ให้เราดู ทุเรียนทอดกลิ่นไม่หอมแรงเท่ากับทุเรียนสด ๆ แต่รสชาติอร่อย ไม่แพ้กันเลยสักนิด ก่อนที่เราจะกินทุเรียนทอดจนหมดถุงใหญ่ คุณลุงสำเริงก็พาเราไปดูสถานที่หมักน้ำปลาของกลุ่ม โอ่งหมักน้ำปลาส่งกลิ่นแรงได้คะแนนมากกว่าทุเรียนทอดอยู่หลายขุมนัก พวกเราที่ไม่คุ้นชินกลิ่นน้ำปลาจำนวนมากเช่นนี้ ต้องตั้งสติกันอยู่ครู่หนึ่ง คุณสำเริงเดินเปิดโอ่งน้ำปลาให้เราดูสี ลักษณะ และกลิ่นของน้ำปลาที่หมักไว้ในระยะเวลาแตกต่างกัน โอ่งหมักน้ำปลาละลานตาตรงหน้าชวนให้นึกถึงข้าวสวยร้อนๆ เยาะน้ำปลาลงไปนิด ให้กลิ่นโชยขึ้นมาพร้อมกับควันข้าวหอมกรุ่น

นอกจากการแปรรูปสินค้าบริโภคแล้ว กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรจำรุงยังช่วยกันผลิตสินค้าอุปโภค เช่น แชมพูสระผมจากดอกอัญชัน น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า เพื่อการพึ่งตนเองและลดร่ายจ่ายในครอบครัว สินค้าอุปโภคบริโภคที่ได้จากการแปรรูปทั้งหมดมีจำหน่ายให้แก่ชุมชนและบุคคลภายนอกผ่านร้านค้าชุมชน

กลุ่มกิจกรรมของสมาชิก

กลุ่มผู้ใช้น้ำกับอาหารมื้ออร่อย
อาหารมื้อแรกและอีกหลาย ๆ มื้อของเราในชุมชนบ้านจำรุงมาจากความเอื้อเฟื้อของกลุ่มผู้ใช้น้ำ อีกหนึ่งกลุ่มกิจกรรมในบ้านจำรุงที่นำผักพื้นบ้าน สมุนไพรพื้นเมืองจากกลุ่มเกษตรพื้นบ้านมาปรุงอาหารมื้ออร่อยให้พวกเราทาน แต่ผู้ใหญ่ชาติชายบอกว่ากลุ่มผู้ใช้น้ำไม่ใช่เพียงแค่กลุ่มร่วมกันเฉพาะกิจเพื่อทำอาหารให้แก่ผู้มาเยือนเท่านั้น แต่ยังจัดได้ว่าเป็นกลุ่มกิจกรรมสำคัญกลุ่มหนึ่งที่มีกิจกรรมภายใต้การดำเนินงานของกลุ่มเพื่อการบริหารความเสี่ยงด้านแหล่งน้ำในชุมชน
กลุ่มผู้ใช้น้ำก่อตั้งขึ้นจากการประสบปัญหาขาดแคลนน้ำไว้ทำกิจกรรมทางการเกษตรของหมู่บ้าน พืชผัก ผลไม้ที่มีอยู่มากในชุมชนเสียหาย ล้มตาย ชาวสวนผลไม้จึงรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้นำขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2537 เพื่อจัดระเบียบการใช้น้ำของชาวสวน ร่วมกันปรับปรุง และอนุรักษ์แหล่งน้ำ เพื่อให้ชุมชนยังมีแหล่งน้ำใช้ต่อไปในวันข้างหน้าอย่างพอเพียง
รายได้จากการทำอาหารรับรองผู้มาเยือนชุมชนอย่างเราส่วนหนึ่งก็จะกลายเป็นกองทุนพัฒนาหมู่บ้าน ส่วนหนึ่งเป็นค่าแรง และส่วนหนึ่งยังเหลือเก็บเป็นเงินออมให้สมาชิกอีกด้วย เราคำนวณดูแล้วชาวบ้านจำรุงแต่ละคนมีรายได้จากหลายแหล่งมากมายเหลือเกิน ทั้งยังมีเงินออมจากรายได้ของกลุ่ม และยังสามารถแบ่งส่วนหนึ่งไปใช้ในการพัฒนาหมู่บ้านได้อีก เป็นการปันกันกิน ปันกันใช้ ปันกันเก็บร่วมกันภายในชุมชน

เก็บขยะไปฝากที่ธนาคาร
กลุ่มผู้ใช้มีธนาคารขยะเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของกลุ่ม หลังจากที่เราได้ยินชื่อครั้งแรกแล้ว เรายังไม่แน่ใจนักว่าธนาคารแห่งนี้มีพันธกิจอะไรในชุมชน “แปลงขยะให้เป็นทุน” นี่เป็น พันธกิจแรกของธนาคารขยะที่เรารับทราบมา ธนาคารขยะและสิ่งแวดล้อมแห่งชุมชนบ้านจำรุงเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นเตือนจิตสำนึกในการใช้ทุกทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้ชาวบ้านในชุมชนเห็นคุณค่าของเศษสิ่งของที่เหลือใช้ แต่ยังสามารถนำมาหมุนเวียนในชุมชนใช้ประโยชน์ได้ใหม่อีกครั้ง ขวดน้ำปลาจากกลุ่มน้ำปลาที่เราเข้าไปพิสูจน์กลิ่นมาแล้วก็รับซื้อมาจากธนาคารขยะ ชาวบ้านที่เก็บขวดน้ำปลามาไว้ที่ธนาคารขยะก็กลับมาซื้อน้ำปลาจากกลุ่มน้ำปลาอีกครั้ง ห่วงโซ่คุณค่าเล็กๆ อีกห่วงหนึ่งผ่านเข้ามาในการรับรู้ของเราอีกครั้ง

คุณลุงวินัย กว้างขวาง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านชี้ให้เราดูสภาพแวดล้อมสะอาดตาทั่วบริเวณชุมชน ถนนหนทางมีต้นไม้ขึ้นระเกะระกะแต่กลับดูเรียบร้อย นั่นคงเป็นเพราะว่าบนถนนและข้างทางมีเพียงขยะธรรมชาติ เศษใบไม้ ใบหญ้า ไร้วี่แววของขยะสังเคราะห์ ธนาคารชุมชนเกิดขึ้นจากปัญหาเหมือนกับกิจกรรมอื่น ๆ ในบ้านจำรุง เมื่อชาวบ้านในชุมชนเห็นว่ามีขยะเกลื่อนกลาดตามถนนหนทาง ยิ่งถ้าวันใดมีผู้มาดูงานด้วยแล้ว เศษสิ่งของเหลือใช้เหล่านั้นก็ยิ่งมีเพิ่มมากขึ้น บางชิ้น ยังสามารถนำใช้ใหม่ได้อีก จึงได้จัดตั้งธนาคารขยะไว้เป็นทรัพย์สินส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้ใช้น้ำ โดยมีชาวบ้านถือหุ้น ๆ ละ 100 บาท มีการปันผลกำไรกันเช่นเดียวกับผู้ถือหุ้นในธนาคารใหญ่ ๆ ธนาคารจะรับซื้อขยะทุกประเภท และนำไปคัดแยก หากขยะประเภทนำมาใช้ประโยชน์ได้ก็จะนำมาใหม่ในชุมชน เช่น ขวดน้ำปลา ส่วนขยะประเภทอื่น ๆ ก็จะมีรถรับซื้อขยะมาขนไป คุณลุงวินัยเล่าเหตุการณ์ภาพวันรับซื้อขยะให้เราฟังว่ามีทั้งผู้ใหญ่และเด็กมาต่อแถวกันเป็นจำนวนมากเพื่อนำขยะมาขาย ซึ่งก็คือฝากขยะไว้ที่ธนาคาร เงินที่ได้รับก็เป็นดอกเบี้ยบ้างครั้งได้ดอกเบี้ยดีกว่าฝากเงินในธนาคารเสียอีก ถ้าเป็นเด็ก ๆ อาจจะรับดอกเบี้ยกันวันนั้นเลย ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็จะลงบัญชีดอกเบี้ยไว้ก่อน คุณลุงวินัยบอกว่าหลังจากมีธนาคารขยะขึ้นมาเด็ก ๆ ก็จะแย่งกันเก็บขยะในชุมชนมาไว้ที่ธนาคารกันถ้วนหน้า ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดก็คือสภาพแวดล้อมในชุมชนดูสะอาดตาขึ้นมาก เรานึกถึงภาพมื้ออาหารของกลุ่มผู้ใช้น้ำ จำได้ว่าเห็นเด็กมาคอยช่วยงานและกุลีกุจอกันเก็บขยะอยู่หลายคน พอได้รู้จักธนาคารขยะ เราก็เข้าใจความขยันมุ่งมั่นของเด็ก ๆ ในวันนั้นในทันที พอเล่าให้คุณลุงวินัยฟังถึงความเข้าใจของเรา คุณลุงก็เสริมขึ้นว่านอกจากให้เด็กรู้จักวิธีการจัดการสภาพแวดล้อมในชุมชนของตนเองแล้ว ยังเป็นการปลูกฝังภาวะผู้นำและการทำกิจกรรมกลุ่มใน ตัวเยาวชนอีกด้วย เพื่อให้เด็กเหล่านี้กลายเป็นผู้นำของชุมชนและสานต่อสิ่งที่ผู้ใหญ่ปฏิบัติกันมารุ่นต่อรุ่นให้คงอยู่สืบไป

Home Stay เพื่อการเรียนรู้ชีวิตตามวิถีของชุมชน


บ้านจำรุงมีกลุ่ม Home Stay ที่รวมตัวกันเพื่อบริการที่พักในชุมชน ให้กับนักท่องเที่ยว หรือผู้ที่ต้องการมาศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตในชุมชนแห่งนี้ ป้ามะลิ รัตนวิจิตร หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม Home Stay ชวนเราไปพักที่บ้านในระหว่างการเข้ามาศึกษาทำความรู้จักชุมชนเล็ก ๆ แห่งนี้ ชาวบ้านกว่า 20 ครอบครัวเป็นสมาชิกในกลุ่ม บ้าน Home Stay ของชุมชนบ้านจำรุงก็คือบ้านของชาวบ้านที่ไม่ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรให้หรูหรา เราถามผู้ใหญ่บ้านกับป้ามะลิว่ากว่าจะมาเป็นชุมชน Home Stay อย่างที่เราเห็นกันในวันนี้ บ้านพักอาศัยแต่ละหลังต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างหรือไม่ สืบความจนได้รายละเอียดว่าเมื่อแรกเริ่มเกิดความคิดในการจัดกิจกรรม Home Stay ในชุมชน ชาวบ้านต่างประชุมกันคิดหาวิธีมากมายในการปรับปรุงสภาพบ้าน สภาพภูมิทัศน์ในชุมชน คิดปรับอย่างนั้น คิดเปลี่ยนอย่างนี้ บ้างก็คิดไปถึงการสร้างเป็นลักษณะรีสอร์ทให้ผู้มาพักได้รับความสะดวกสบายมากที่สุด ความคิดจากชาวบ้านในที่ประชุมหลั่งไหลออกมาอย่างมากมาย ยิ่งคิดกันมากเท่าไร ยิ่งมีเรื่องที่จะต้องทำกันมากเท่านั้น เวลาในการระดมสมองผ่านไปชั่วระยะหนึ่ง ชาวบ้านจำรุงจึงกลับมาพิจารณาสภาพความเป็นจริงในชุมชนกันอีกครั้ง วัตถุประสงค์แรกในการตั้งกลุ่มกิจกรรม Home Stay ก็เพื่อให้บุคคลภายนอกชุมชนเข้ามาเรียนรู้วิถีชีวิตร่วมกัน ดังนั้นชีวิตความเป็นอยู่ตามวิถีของชุมชนบ้านจำรุงต่างหากที่เป็นประสบการณ์ที่ผู้คนเหล่านั้นต้องการ โครงการใหญ่ งบประมาณมากมายทั้งหลายจึงไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป เพียงแค่ครอบครัวที่ต้องการเข้าร่วมกิจกรรม Home Stay คอยจัดทำความสะอาดบ้านให้เรียบร้อยอยู่เสมอ ส่วนใดชำรุดก็ปรับปรุงให้ใช้การได้ นอกจากจะประหยัดงบประมาณลงไปจำนวนมากแล้ว ยังเป็นการปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้ได้ประโยชน์แก่ตนเองอีกด้วย สุดท้ายแล้วงบประมาณถูกใช้จ่ายไปเพียงเพื่อการซื้อเครื่องนอน หมอน มุ้งไว้บริการในกรณีมีผู้มาพักจำนวนมากเท่านั้น ผู้ใหญ่ชาติชายบอกว่าต่างจากโครงการปรับปรุงที่พักเพื่อทำ Home Stay อย่างที่ทุกคนคิดไว้ตอนแรกมากนัก แต่ผลลัพธ์ที่ได้ยิ่งใหญ่ คุ้มค่า และตรงตามวัตถุประสงค์ของกลุ่มกิจกรรม Home Stay อย่างแท้จริง ค่าที่พัก Home Stay ราคา 120 บาทต่อคืน พร้อมอาหารเช้า คล้ายข้อความโฆษณาที่พักตามโรงแรม แต่เรายังได้เรียนรู้วิถีชีวิตที่เรียบง่ายในชุมชน ได้สนทนาวิสาสะกับผู้คนมากมาย เป็นสิ่งมีค่าที่เราได้รับมากกว่าที่พักกับอาหารเช้าตามโรงแรม ผู้ใหญ่บ้านบอกว่าเงิน 120 บาท จะถูกนำมาจัดการแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก 70 บาทมอบให้เจ้าของบ้านที่พัก ส่วนที่ 2 จำนวน 40 บาทให้เป็นค่าอาหารเช้าที่กลุ่ม Home Stay จะจัดเตรียมไว้ให้ และที่เหลืออีก 10 บาทเก็บเป็นเงินบริหารจัดการกลุ่ม เจ้าของบ้านทุกคนต้อนรับพวกเราด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เป็นอย่างยิ่ง ป้ามะลิผู้น่ารักยกถาดผลไม้มาให้เราเป็นของว่างก่อนนอน ทั้งทุเรียน เงาะ แก้วมังกร ช่างเป็นของว่างที่แสดงเอกลักษณ์ของชาวระยองเสียจริง

สัจจะออมทรัพย์ พันธะสัญญาแห่งชุมชน

หลายกลุ่มกิจกรรมในบ้านจำรุงมีการรวมเงินสัจจะออมทรัพย์และให้สิทธิการกู้เงินแก่สมาชิกในกลุ่ม เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนภายกลุ่มของตนเอง นอกจากกองทุนพัฒนาหมู่บ้านซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับการพัฒนาชุมชนแล้ว กิจกรรมสัจจะออมทรัพย์เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ตั้งอยู่บนความเชื่อใจ ไว้วางใจกันในชุมชน ทั้งผู้กู้และผู้ออมต้องตรงต่อเวลาและยืดถือสัจจะความซื่อสัตย์ร่วมกัน เราเชื่อว่ายิ่งในชุมชนมีกลุ่มสัจจะที่เข้มแข็งมากเท่าไร ความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกันในชุมชนจะปรากฎเด่นขัดมากขึ้นเท่านั้น และปรากฎผลลัพธ์เป็นผลงานการทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกันของชุมชน ดังที่เราเห็นเครือข่ายความเข้มแข็ง และความสามัคคีที่เจริญงอกงามอยู่ภายในชุมชนเล็กๆ แห่งนี้

พึ่งพิงอิงกัน แบ่งปันเพื่อนบ้าน

“นั่นเขากำลังคลำหอยกัน” ประโยคชวนแปลกใจนี้เราได้ยินจากชาวบ้านที่กำลังเตรียมอุปกรณ์ออกไปหาปูและคลำหอยกันในคลองเนินฆ้อ ผู้ใหญ่บ้านพาเราไปดูแหล่งน้ำตามธรรมชาติของตำบลเนินฆ้อที่ยังอุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยชีวิตทั่วผืนน้ำ พื้นที่ที่เรากำลังยืนดูกิจกรรมคลำหอยกันอยู่นี้ คือชุมชนหมู่ 2 เพื่อนบ้านของชุมชนบ้านจำรุง คลองเนินฆ้อเป็นคลองที่เชื่อมต่อกับปากแม่น้ำปะแสร์ บริเวณที่แห่งนี้เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอันอุดม ด้วยการร่วมใจกันอนุรักษ์ ปกป้อง หวงแหนร่วมกัน ป่าโกงกางที่อยู่ข้างหน้าเราทางฟากตรงข้ามเป็นที่ทำการของธนาคารปูแสม แม้จะไม่มีพนักงานทำการอยู่จริง ๆ แต่จำนวนปูแสมที่ถูกฝากไว้ที่ธนาคารมีมูลค่ามากมายมหาศาลจากจำนวนไข่ในท้อง ทุกคนในชุมชนนี้และชุมชนใกล้เคียงสามารถมาหาสัตว์น้ำไปขายหรือทำอาหารได้จากคลองแห่งนี้ เพียงแต่มีวิถีที่ต้องยึดถือร่วมกัน คือ เมื่อมีชาวบ้านคนใดจับปูแสมที่มีไข่อยู่ในท้องได้ก็จะนำปูตัวนั้นไปปล่อยไว้ที่บริเวณธนาคารปูแสม เพื่อให้ไข่ที่อยู่ในท้องออกมาเป็นตัวก่อน ชาวบ้านจำรุง เองก็ยึดถือหลักการนี้ร่วมกัน เราไม่เห็นตัวเงินจากการฝากธนาคารในครั้งนี้ แต่ผู้ใหญ่ชาติชายบอกว่าธนาคารแห่งนี้ให้ดอกเบี้ยมหาศาล ปูแสมมีไข่หนึ่งตัวให้กำเนิดลูกปูมากกว่าร้อยตัว ลูกปูเหล่านั้นจะกลายเป็นดอกเบี้ยที่ไม่ได้มอบให้แก่ผู้ฝากเท่านั้น แต่เป็นดอกเบี้ยสำหรับทุกคนที่ใช้ประโยชน์จากคลองแห่งนี้ เมื่อปูแสมเพื่อจำนวนขึ้น ความอุดมสมบูรณ์ในแหล่งน้ำก็ตามมา




นอกจากปลา ปูจำนวนมากในคลองเนินฆ้อแล้ว ยังมีหอยพอก หอยสองฝาตัวใหญ่ เปลืกหนา อาศัยร่วมชายคาบ้านเดียวกับฝูงปลา และฝูงปู หอยพอกหันเหความสนใจของเราไปชั่วขณะหนึ่งจากธนาคารปูแสม ด้วยวิธีการหาหอยที่เรียกว่า คลำหอย วิธีการคลำหอยก็คือการที่ผู้มาหาหอยต้องใช้มือค่อย ๆ คลำไปตามบริเวณผิวดินใต้น้ำ เมื่อสัมผัสถูกของแข็งคล้ายเปลือกหอยจึงค่อย ๆ หยิบขึ้น เพราะอากัปกิริยาที่ค่อย ๆ ควานหาหอยแบบนี้ถึงได้ชื่อว่าคลำหอย ดังนั้น เมนูอาหารเย็นเมนูหนึ่งของเราในวันนี้จึงต้องมีหอยพอกย่างที่เรานำเอากลับมาจากคลอง เนินฆ้อด้วยอย่างแน่นอนบ้านจำรุงสร้างเครือข่ายกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมภายนอกชุมชน เนื่องจากความเป็นไปภายนอกชุมชนย่อมส่งผลต่อความเป็นอยู่ภายในชุมชนเช่นกัน ถัดจากธนาคารปูแสมที่หมู่บ้านหมู่ 2 แล้ว ผู้ใหญ่บ้านพาเราถึงชายทะเลที่ชุมชนหมู่ 4 ตำบลเนินฆ้อ จากคลองเนินฆ้อสู่ทะเลอ่าวไทยมีระยะทางไม่ไกลกันเท่าไรนัก แต่ภาพที่เราเห็นกลับแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทะเลสีฟ้ากว้างเวิ้งว้าง เส้นขอบฟ้าลากยาวสุดสายตา กลิ่นอายน้ำเค็มฟุ้งกระจายอยู่ทั่วไป ไม้ต้นใหญ่หนึ่งต้นยืนโดดเดี่ยวอยู่ริมหาด จากสิ่งที่ปรากฎอยู่ในสายตาชุมชนหมู่ที่ 4 เป็นเพื่อนบ้านที่มีสภาพแวดล้อมต่างบ้านจำรุงเป็นอย่างมาก มัคคุเทศน์ร่างสูงผอมแห่งหมู่ที่ 4 บอกเราว่าปลาในอ่าวไทยบริเวณนี้ได้อยู่อาศัยในบ้านที่สร้างจากฝีมือมนุษย์ เพราะมนุษย์เป็นผู้ทำลายปะการังที่อยู่อาศัยของปลา ทำให้ปลาจำนวนมากไร้บ้านอยู่ เมื่อสำนึกผิดก็ต้องมาทำปะการังเทียมให้พวกเขาแทน ซึ่งปะการังเทียมที่ชาวบ้านทำขึ้นก็สร้างมาจากแท่นคอนกรีตต่อกันเป็นท่อน ๆ แล้วนำไปปล่อยไว้ในทะเล เพื่อให้ปลาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและเพาะพันธ์ต่อไป (เมื่อก่อนชาวบ้านใช้ยางรถยนต์มาทำเป็นปะการังเทียมเรียกว่าเต๋ายาง แต่เต๋ายางมักไม่ทน เมื่อถูกปล่อยลงไปในทะเลช่วงระยะเวลาหนึ่ง ยางรถยนต์จะหลุดลอยหาย จึงเปลี่ยนมาใช้คอนกรีตที่ทนกว่าแทน ผู้ใหญ่ชาติชายบอกว่าทั้งชุมชนหมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 4 ต่างเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกันกับชุมชนบ้านจำรุง เพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสารและร่วมกันทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม คุณน้ามัคคุเทศน์ ชี้ให้เราดูต้นไม้ต้นที่ยืนเดี่ยวดายกลางแสงแดด ต้นที่เราสังเกตเห็นตอนแรก ว่าเป็นอนุสรณ์เตือนใจให้ตระหนักถึงอำนาจการทำลายจากน้ำมือมนุษย์ ต้นไม้ต้นนี้กำลังจะฟื้นคืนชีพขึ้นมาพร้อมกับปริมาณปลาที่แวกว่ายอย่างมีความสุขในทะเลอ่าวไทย

ร่วมสร้างเครือข่ายแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน

กระบวนการทำงานของกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชนบ้านจำรุงแม้จะมีการบริหารงานอย่างเป็นอิสระ แต่ก็มีการประสานเครือข่ายกันระหว่างกลุ่มกิจกรรมเพื่อเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน กับองค์กรภายนอกก็เช่นกัน ชุมชนบ้านจำรุงมีการประสานงานกับเครือข่ายต่าง ๆ ภายนอกหมู่บ้านทั้งกรมการพัฒนาชุมชน กองทุนเพื่อสังคม กระทรวงสาธารณสุข สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน หรือแม้แต่กองทุนเพื่อสังคม (เป็นหน่วยงานที่เข้ามาสนับสนุนกิจกรรมของหมู่บ้านและจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชนและผู้สูงอายุบ้านจำรุงขึ้นมา) เพื่อเผยแพร่กิจกรรมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ให้องค์ความรู้ต่าง ๆ ในชุมชนไหลเวียนจากภายในไปสู่ภายนอก และชุมชนสามารถนำองค์ความรู้จากหน่วยงานภายนอกเข้ามาพัฒนาชุมชนอย่างสม่ำเสมอให้สอดคล้องกับสภาพชุมชนและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง ขณะนี้บ้านจำรุงได้ยกระดับศูนย์การเรียนรู้ชุมชนและผู้สูงอายุให้เป็นศูนย์ถ่ายทอดความรู้ในนามวิทยาลัยบ้านนอกเพื่อการเรียนรู้ของสังคม ภายใต้โครงการร่วมกับมหาวิทยาลัยชีวิต สถาบันวิสาหกิจชุมชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยราชภัฏ ดังนั้นกระบวนการเรียนรู้ภายในชุมชนบ้านจำรุง จึงไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่ภายในชุมชน แต่ยังขยายขอบเขตไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ภายนอกอีกมากมาย ผู้ใหญ่ชาติชายเคยกล่าวกับเราเอาไว้ว่า


“การเรียนรู้เป็นสิ่งที่ต้องแลกเปลี่ยนร่วมกัน ชุมชนเอาจากเขาอย่างเดียวไม่ได้ เขาก็ไม่ควรเขามากอบโกยจากเราไปอย่างเดียวกัน ต้องมีอะไรมาแลกเปลี่ยนกัน ไม่อย่างนั้นชุมชนจะเติบโตอย่างสมดุลไม่ได้”



วิทยุชุมชน สื่อชุมชน เพื่อชุมชน โดยชุมชน

บ้านจำรุงเป็นชุมชนหนึ่งที่มีสื่อเป็นของตนเองโดยใช้วิทยุชุมชนเป็นสื่อกลาง จากเดิมที่มีการเผยแพร่เสียงตามสายในชุมชนอยู่แล้ว ก็ได้พัฒนาขึ้นกลายเป็นวิทยุชุมชนด้วยการสนับสนุนตามนโยบายของกองทุนเพื่อสังคม เพื่อให้ชุมชนสามารถผลิตสื่อวิทยุชุมชนได้ด้วยตนเอง เริ่มแรกเมื่อตั้งกลุ่มวิทยุชุมชนขึ้นมีจำนวนสมาชิก 15 คน ก็ได้ส่งสมาชิกเข้าไปอบรมการเตรียมความพร้อมเพื่อออกอากาศ เทคนิคการจัดรายการ การบริหารจัดการสถานี การดำเนินการเตรียมความพร้อมทั้งหมดเป็นไปในระยะเวลา 1 ปีเต็ม ในระหว่างนั้นผู้คนในชุมชนก็เริ่มให้ความสนใจมากขึ้นในที่สุดกองทุนเพื่อสังคมได้มอบงบประมาณ 100,000 บาท เพื่อนำไปจัดซื้อเครื่องส่งและอุปกรณ์ต่างๆ จนกระทั่งวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2545 วิทยุชุมชนแห่งบ้านจำรุงจึงได้ทดลองออกอากาศเป็นครั้งแรก

วิทยุชุมชนบ้านจำรุงออกอากาศที่คลื่นความถี่ FM 103.75 MHz มีพื้นที่ครอบคลุมประมาณ 10 ตำบล ในรัศมี 15 กิโลเมตร มีรายการออกอากาศทุกวันๆ ละ 3 ชั่วโมง มีรายการกว่า 33 รายการต่อสัปดาห์ และอาสาสมัครผู้ผลิตรายการวิทยุในชุมชนมากกว่า 100 คน มีชาวบ้านที่ได้การฝึกอบรมการดูแลเครื่องส่งสัญญาณเป็นช่าวเทคนิคผู้ดูแลและรักษาเครื่องส่ง ชาวบ้านที่มีความสนใจสามารถเสนอเข้ามาจัดรายการที่เป็นประโยชน์เผยแพร่แก่ชุมชน ส่งเสริมค่านิยมในท้องถิ่นก็สามารถทำได้ หรือกลุ่มกิจกรรมใดต้องการมีรายการเพื่อประชาสัมพันธ์หรือรณรงค์กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของกลุ่มก็สามารถทำได้ โดยสภาหมู่บ้านจะเป็นผู้กำหนดแนวทางข่าวสารทางเลือกในชุมชน



“ถ้าอยากฟังเพลงฮิตก็หมุนคลื่นอื่น ที่นี่ถ้าไม่เปิดพื้นที่ให้เรื่องราวของตนเอง ก็ไม่รู้จะมีที่ไหนเปิดได้” ผู้ใหญ่ชาติชาย เหลืองเจริญ


ชาวบ้านทุกคนในบ้านจำรุงคือ เจ้าของวิทยุชุมชนแห่งนี้ เป็นท่านเจ้าของสถานีที่เคารพของผู้จัดรายการทุกคน เราทราบมาว่าวิทยุชุมชนแห่งนี้มีธรรมนูญชุมชนเป็นของตนเอง 5 ประการคือ หนึ่ง วิทยุชุมชนเป็นของสาธารณะ ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน มีสิทธิใช้และต้องดูแลรักษาร่วมกัน สอง ไม่ใช้วิทยุชุมชนเป็นช่องทางในการหารายได้เพื่อโฆษณา สาม คณะกรรมการวิทยุชุมชนต้องให้คำปรึกษาอย่างโปร่งใส สี่ สมาชิกทุกเพศ วัย การศึกษาสามารถเข้ามาเรียนรู้ร่วมกันได้อย่างไม่จำกัด และ ห้า การนำเสนอสารระในรายการวิทยุต้องเป็นปเพื่อส่งเสริมวิถีชีวิต ค่านิยมอันดีงามในชุมชน และประโยชน์แก่ส่วนรวม
“คนอื่นฟังธรรมดา แต่คนบ้านจำรุงฟังแล้วรู้สึกเป็นเจ้าของ” ความรู้สึกเป็นเจ้าของที่ว่านั้น สะท้อนผ่านความสำเร็จในการดำเนินงานวิทยุชุมชนที่มีมาตลอด 5 ปี
คุณพี่บุญช่วย เครือวัลย์ อาสาสมัครจัดรายการวิทยุ ผู้ผลิตรายการบัวบานสีขาว บอกกับเราว่าพี่เขาดั้งด้นมาจากตำบลอื่นไกลกว่า 10 กิโลเมตร เพื่อมาจัดรายการ มาแบ่งปันสิ่งดี ๆ เรื่องราวดี ๆ ให้ทุกคนในชุมชนได้ฟังกัน วันที่เราได้มีโอกาสคุยกับพี่บุญช่วย เป็นวันที่สถานีงดออกอากาศเพราะช่างเทคนิคผู้ดูแลการออกอากาศไม่อยู่ ระยะทางที่มาไกลหลายกิโลเมตรไม่ได้ทำให้พี่บุญช่วยขุ่นข้องหมองใจแต่อย่างใด มีเพียงคำว่า “ไม่เป็นไร” ออกมาจากปากนักจัดรายการวิทยุผู้มุ่งมั่นผู้นี้ แม้ว่าวันนั้นจะไม่ได้มีโอกาสเห็นและฟังการจัดรายการ แต่ถ้ามีโอกาสเข้าเขตตำบลเนินฆ้ออีกเมื่อไร เราจะลองหมุนคลื่นมาที่สถานีวิทยุชุมชนตัวจริงแห่งนี้อีกครั้ง

กลุ่มกิจกรรมเชิงวัฒนธรรม


ผู้สูงอายุกับเปตอง เยาวชนกับดนตรี


กีฬาเปตองเป็นกีฬาหนึ่งที่เป็นที่นิยมกันในหมู่ผู้สูงอายุ แต่ที่ชุมชนบ้านจำรุงแห่งนี้กีฬาชนิดนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่กีฬาสำหรับผู้สูงอายุ แต่เป็นกีฬาสำหรับทุกคน โดยเฉพาะเยาวชน นักกีฬาเปตองทั้งรุนเล็ก รุ่นใหญ่ ของอ.แกลงล้วนแล้วแต่ได้รับรางวัลระดับชาติมาแล้วเกือบทั่วประเทศ ภายในชุมชนก็จะมีการจัดการแข่งขันเพื่อคัดเลือกตัวแทนปีละหนึ่งครั้ง ในวิทยุชุมชนบ้านจำรุงเองก็มีรายการบอกข่าวชาวเปตองอยู่รายการหนึ่งด้วย ดำเนินการโดยสมาชิกกลุ่มชมรมเปตองอินทโชติ
กลุ่มชมรมเปตองอินทโชติ ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2538 โดยการรวมกลุ่มกันของชาวบ้านในชุมชนอำเภอแกลงที่รักและสนใจในกีฬาเปตอง จนกระทั่งขณะนี้มีสมาชิกกว่า 90 คน บริเวณด้านข้างศูนย์การเรียนรู้ชุมชนและผู้สูงอายุบ้านจำรุงมีสนามเปตองตั้งอยู่ เราเพิ่งสังเกตในเวลาต่อมาว่าบริเวณสนามเปตองนี้เป็นส่วนหนึ่งของเสียงหัวเราะและใบหน้ายิ้มแย้มที่เราได้พบเห็นเมื่อครั้งแรกที่มาเยือนชุมชนแห่งนี้

เยาวชนในชุมชนบ้านจำรุงมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ เรียนรู้ที่จะเสียสละเพื่อส่วนรวม เห็นแก่ประโยชน์ร่วมกันของชุมชน และเตรียมตัวเป็นผู้นำในอนาคต หลังจากที่การมาเยี่ยมเยือนบ้านจำรุงของเราในครั้งก่อน เราได้ยินเสียงซ้อมดนตรีดังมาจากบ้านหลังหนึ่ง วันนี้เราก็ได้คำตอบว่า นั่นเป็นดนตรีเยาวชน สวช. ของบ้านจำรุง เยาวชนในชุมชนซึ่งสนใจและมีความสามารถในการเล่นดนตรีจะมารวมกลุ่มกันเพื่อเล่นดนตรีและออกงานแสดงสดสร้างรายได้ให้กับกลุ่มครั้งละหลายหมื่นบาท


นอกจากนี้ผู้สูงอายุในชุมชนยังรวมตัวกันเป็นกลุ่มผู้สูงอายุจากคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขสถานีอนามัยบ้านจำรุง เพื่อให้ผู้สูงอายุเกิดการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ สร้างสังคมระหว่างผู้สูงอายุด้วยกันเอง เพื่อขจัดความว้าเหว่ในจิตใจเมื่อยามแก่เฒ่า กลุ่มผู้สูงอายุจะมีกิจกรรมเพื่อสุขภาพของสมาชิกในกลุ่มทุกเดือน และมีรายการวิทยุเป็นของกลุ่มเอง และกลุ่มผู้สูงอายุยังเข้าร่วมในกลุ่มกิจกรรมการผลิตในชุมชน ด้วยการร่วมกันผลิตข้าวซ้อมมือจากโรงสีข้าวในชุมชนเพื่อนำไปจำหน่ายในร้านค้าชุมชน ให้ชาวบ้านในชุมชนมีสุขภาพดี และซื้อข้าวซ้อมมือได้ในราคาย่อมเยา และนำแกลบ รำ ปลายข้าว ส่งไปให้กลุ่มเกษตรพื้นบ้านและกลุ่มผู้เลี้ยงตะพาบน้ำได้ใช้ประโยชน์ เรานึกถึงภาพวงจรการบริโภคในชุมชนบ้านจำรุงขึ้นมาได้อีกครั้งว่า ถ้าเกษตรนำปุ๋ยอินทรีย์จากกลุ่มเกษตรพื้นบ้านไปใช้ในการปลูกข้าว ข้าวถูกส่งมาให้กลุ่มผู้สูงอายุผลิตข้าวซ้อมมือ แล้วในที่สุดกลุ่มเกษตรกรพื้นบ้าน กับกลุ่มผู้ใช้ตะพาบน้ำก็ต้องกลับมาซื้อข้าวซ้อมมือของกลุ่มผู้สูงอายุอีกครั้ง ห่าวโซ่คุณค่านี้ยังดำเนินไปอย่างไม่มีสิ่งใดสูญเปล่า และทุกฝ่ายต่างพึ่งพากันและกัน

ชมรมอินทโชติการุณย์ ลงแขกแรงงาน สวัสดิการชุมชน

การลงแขกเป็นกิจกรรมร่วมแรงร่วมใจกันของชาวบ้านชนบทไทยในอดีต ซึ่งสูญหายไปจากสังคมในระยะหนึ่ง จนกระทั่ง เมื่อสังคมชนบทเริ่มทำความเข้าใจกับวิถีชีวิตและรากเหง้าของตนเองมากขึ้น การขอแรงร่วมลงแขกก็กลับมาปรากฎพบเห็นกันในชุมชนอีกครั้ง ชมรมอินทโชติการุณย์แห่งบ้านจำรุงเป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2535 เพื่อให้เยาวชนมีเวทีพบปะพูดคุยกัน และทำกิจกรรมร่วมกัน แต่เมื่อดำเนินการไปได้ระยะหนึ่ง ก็มีสมาชิกเพิ่มมากขึ้น ไม่เฉพาะแต่เยาวชนเท่านั้น ทุกคนในชุมชนเริ่มต้องการส่วนร่วมกับชมรมฯ มากยิ่งขึ้น เมื่อชมรมอินทโชติการุณย์มีคนจำนวนมากเช่นนี้ นั่นหมายถึงกำลังแรงงานที่มีอยู่ในกลุ่มก็มีมากขึ้นด้วย ชมรมฯ จึงดำเนินการกิจกรรมบริการสาธารณะต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในชุมชน เมื่อมีกิจกรรม หรือประเณีต่าง ๆ ก็ขอแรงลงแขกจากคนหนุ่มสาวในชมรมนี้ได้

กลุ่มรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น

กลุ่มรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นกลุ่มที่มีอยู่อย่างไม่เป็นทางการมากกว่า 50 ปี แต่มีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมมานานแล้ว จนกระทั่งมีวิทยุชุมชนเกิดขึ้น ทางกลุ่มก็ได้นำเรื่องราวประเพณีท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้านมาบอกเล่าผ่านรายการวิทยุ การรวมตัวกันทำกิจกรรมจึงเริ่มเป็นระบบมากยิ่งขึ้น ทั้งกิจกรรมกลองยาว เครื่องสาย หมอทำขวัญ และกิจกรรมท้องถิ่นอย่างมหกรรมว่าว และในปี พ.ศ. 2547 กลุ่มรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นได้ประสานกับโรงเรียนวัดจำรุง เพื่อนำวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นไปเผยแพร่ให้กับเยาวชน มีการสอนกลองยาวให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนโดยใช้ชาวบ้านเป็นครู ส่วนหนึ่งเพื่อสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างประเพณีของท้องถิ่นกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ เรายังไม่มีโอกาสได้เห็นงานมหกรรมว่าวของบ้านจำรุง คราวหน้าถ้าเราไปชุมชนบ้านจำรุงในเดือนเมษายน เราหวังว่าคงมีโอกาสเห็นว่าวสีสวย ๆ ลอยโฉบไปมาอย่างร่าเริงเต็มท้องฟ้าบ้านจำรุง

บ้านจำรุง จังหวัดระยอง

เสียงหัวเราะอย่างมีความสุขดังไม่ขาดสายทั่วบริเวณที่ชาวบ้านจำรุง เรียกกันว่า “ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนและผู้สูงอายุบ้านจำรุง” เวลาผ่านไป ยิ่งบ่ายคล้อยลงมากเท่าไร เราก็เห็นชาวบ้านค่อย ทยอยเดินมาเดี่ยวบ้าง กลุ่มบ้าง มาที่ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ ผู้ใหญ่บ้านจำรุงบอกเราว่าที่นี่เป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นทั้งที่ชุมนุมประชุมสภาหมู่บ้าน ประชุมกลุ่มต่าง ๆ เพื่อให้ชาวบ้านร่วมกันบริหารจัดการชุมชน เป็นที่ตั้งของร้านค้าชุมชน เป็นที่พบปะสังสรรค์กันของทุกคน และเป็นจุดเริ่มต้นของเราในการเข้ามาทำความรู้จักกับชุมชนแห่งนี้
ตั้งแต่เมื่อแรกพบกับผู้นำชุมชนร่างใหญ่ เราเข้าใจว่าเขาน่าจะเป็นนักการเมืองท้องถิ่นด้วยรูปลักษณ์ภายนอกที่ดูมีความมั่นใจ การพูดจามีหลักการ และสายตาที่มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า แต่เมื่อพูดคุยกันไปสักพัก เราก็รู้ว่าเขาเป็นผู้ใหญ่บ้านผู้นำชุมชนบ้านจำรุง ประกายในดวงตาของผู้นำท่าทางดุดันคนนี้ หาใช่ความมั่นใจในอำนาจและตำแหน่งของตนเองไม่ แต่เป็นประกายแห่งความภาคภูมิใจในฐานะชาวบ้านจำรุงคนหนึ่งกับความสำเร็จของชุมชนในวันนี้ วันที่ชุมชนบ้านจำรุงเรียนรู้ที่จะพึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็ง และเป็นที่พึ่งพิงให้ชุมชนอื่น ๆ ได้ จากความเชื่อมั่นในวิถีชีวิต รากเหง้า และภูมิปัญญาของตน
ผู้ใหญ่ชาติชาย เหลืองเจริญ ผู้นำรุ่นที่ 4 ของชุมชนบ้านจำรุง เล่าให้เราฟังว่าเมื่อก่อนบ้านจำรุงก็เป็นเพียงแค่ชุมชนเล็ก ๆ ที่เหมือนกับชุมชนไกลปืนเที่ยงทั่วไป มักไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการพัฒนา ชาวบ้านคิดจะทำอะไรก็ต้องหาวิธี หางบประมาณกันเองด้วยการเรี่ยไรรวบรวมเงินกัน จนกระทั่งชุมชนเติบโตมาได้จนทุกวันนี้ก็ล้วนเกิดจากน้ำพักน้ำแรงการพึ่งตนเอง และการเสียสละเพื่อส่วนร่วมของชาวบ้านในชุมชน สั่งสมภูมิปัญญาของตนเองจากรุ่นสู่รุ่น สภาพอัน ร่มรื่น ไม้ใหญ่ยืนต้นนานาชนิดสลับกับสวนผลไม้ที่กำลังออกผลละลานตา สวนยางเรียงต้นเป็นทิวแถว สีสันของพืชผลนานาชนิดสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับเราเป็นอย่างมาก แต่ในอดีตชุมชนแห่งนี้ไม่ได้เป็นอย่างภาพที่เห็นเช่นปัจจุบัน

กำเนิดชุมชน ภูมิหลัง และการตั้งบ้านเรือน


เมื่อแรกเริ่มในอดีตกว่า 150 ปี ชาวบ้านจำรุงอพยพมาจากทางแถบชายทะเล บ้านถนนกะเพรา ตำบลเนินฆ้อ เพื่อหาที่อยู่อาศัยอันอุดมสมบูรณ์ ถัดจากบริเวณชายทะเลเดิมประมาณ 7 กิโลเมตร เข้ามาสู่ป่าดิบ หักร้างถางพงจนเป็นบริเวณที่อยู่อาศัย ซึ่งก็คือบริเวณหน้าวัดจำรุงในปัจจุบันนี้ บ้านจำรุงเป็นชื่อที่เรียกเพี้ยนมาจากคำว่า “จำรุ” เป็นภาษาถิ่นของคนชอง หมายถึง ปากทางน้ำไหลลงทุ่ง หรือบึง เพราะที่ดินบริเวณนี้มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม จึงมีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี ลักษณะพื้นที่เช่นนี้จึงเหมาะแก่การทำนา ทำร่องสวนผลไม้ และยางพารา มีทั้งดินเหนียวสีดำในทุ่งนา ทำนาได้ผลดี ดินสีแดงมันปูก็เหมาะแก่การปลูกผลไม้และยางพารา ดังนั้นเมื่อเปลี่ยนป่าให้เป็นบ้าน เปลี่ยนบึงให้เป็นเรีอกสวนไร่นา สวนผลไม้และยางพาราจึงผุดขึ้นเป็นจำนวนมากทั่วทั้งชุมชน กลายเป็นรายได้หลักของชาวบ้าน

คุณลุงสำเริง ดีนาน ชาวสวนยาง วัยกลางคน ร่างเล็ก ท่าทางใจดีคนหนึ่ง เล่าให้เราฟังว่า “ยางต้นหนึ่ง แทนคุณไปได้หลายสิบปี กว่าน้ำยางจะหมด หมดแล้วก็ยังเอาต้นไปขายได้อีก”

ต้นยางพาราสูงชะลูดเรียงเป็นแนวเหล่านี้นับเป็นมูลค่ามหาศาลในช่วงที่ยางขายได้ราคาดี แต่ชาวบ้านก็ไม่นิ่งนอนใจในราคายางที่ขึ้นลงเหมือนหุ้น ชาวสวนยางบ้านจำรุงมีหลักประกันความเสี่ยงที่ดีจากการรวมกลุ่ม รวมซื้อรวมขายยางพารา เช่นเดียวกับชาวสวนผลไม้ซึ่งบางคนก็เป็นกลุ่มเดียวกับชาวสวนยางมีการรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มชาวสวนในชุมชน รวมกันซื้อขายให้ได้ราคาที่ทั้งสองฝ่ายพึงพอใจ การได้จำหน่ายผลผลิตที่ดี ราคาเหมาะสมก็เป็นความภาคภูมิใจของชาวสวน เพราะฉะนั้นเราจึงไม่แปลกใจเลย เมื่อทุกครั้งที่ฟังพวกเขาเล่าถึงผลไม้และต้นยาง พวกเขาเล่าถึงสิ่งเหล่านั้นด้วยสีหน้าที่ภาคภูมิใจ เหมือนพ่อที่ภูมิใจในความสำเร็จของลูก

นอกจากผลไม้และยางพาราแล้ว หลายครอบครัวในบ้านจำรุงมีการปลูกและกินผักพื้นบ้านกันทั่วไป ผักบางชนิดอย่าว่าแต่เคยเห็นหรือไม่เลย แค่ชื่อเราก็ยังไม่เคยได้ยินผ่านหู แต่ที่บ้านจำรุงนี้มีผักพื้นบ้านให้เราลองกินมากกว่า 20 ชนิด ไม่ว่าจะเป็นใบบัวบก ข่าแดง ยอดมัน ผักแว่น ผักหวาน ผักขม ดอกจอก ไพล ถั่วพู และอีกนานาชนิดที่ไม่รู้จักชื่อ รวมทั้งได้ความรู้ใหม่ว่าดอกอัญชันที่เราชอบเอามาขยี้เล่นให้มีสีสวยๆ ออกมา ไม่ใช่แค่เอาไว้ทำเป็นสีผสมอาหารเท่านั้น แต่ดอกอัญชัญนำมารับประทานสด ๆ ได้ด้วย เห็นผักพื้นบ้านหลากหลายชนิดในจานที่ชาวบ้านยกมาให้ทานตรงหน้าแล้ว เราก็เริ่มรู้สึกสุขภาพดีขึ้นมาทันที

ผลไม้ที่อร่อยที่สุดในโลก


ขึ้นชื่อว่าเมืองระยอง ใคร ๆ ที่มาก็ต้องหวังจะได้เห็นผลไม้เลื่องชื่อนานาชนิด แต่ผลไม้นานาพันธ์ที่อยู่ในกระจาดตรงหน้าเราขณะนี้ คุณลุงไฉไล ไกรทอง คุณลุงชาวสวนใจดี มัคคุเทศน์บ้านจำรุงของเราการันตีให้เราฟังว่า

“นี่คือเงาะที่อร่อยที่สุดในโลก นั่นก็มังคุดที่อร่อยที่สุดในโลก ลางสาดก็อร่อยที่สุดในโลก” คุณลุงไฉไลพูดด้วยสีหน้ายิ้ม ๆ แต่มีท่าทางจริงจัง

เมื่อลองชิมดูแล้ว ถึงแม้ว่าเรายังไม่เคยทานผลไม้มาหมดแล้วทั้งโลก แต่ก็เชื่อว่าที่เป็นผลไม้ที่อร่อยที่สุดเท่าที่เคยทานมาจริง ๆ ท่าทางเอร็ดอร่อยของทุกคนเป็นคำถาม ให้ลุงไฉไลตอบ เงาะ มังคุด ลางสาด ทั้งหมดนี้ปลูกเองในชุมชนจึงเชื่อได้ว่าปลอดสารพิษ แล้วได้รับการเลี้ยงดูทะนุถนอมเติบโตมาด้วยความสุข สุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง เพราะฉะนั้นผู้บริโภคที่ทานเข้าไปก็ต้องมีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรงเช่นกัน ไม่ได้ทานสารเคมีครึ่งหนึ่ง ผลไม้ครึ่งหนึ่งอย่างที่ขายกันในบางเขตเมือง

ผลไม้ที่อร่อยที่สุดในโลก

ขึ้นชื่อว่าเมืองระยอง ใคร ๆ ที่มาก็ต้องหวังจะได้เห็นผลไม้เลื่องชื่อนานาชนิด แต่ผลไม้นานาพันธ์ที่อยู่ในกระจาดตรงหน้าเราขณะนี้ คุณลุงไฉไล ไกรทอง คุณลุงชาวสวนใจดี มัคคุเทศน์บ้านจำรุงของเราการันตีให้เราฟังว่า

“นี่คือเงาะที่อร่อยที่สุดในโลก นั่นก็มังคุดที่อร่อยที่สุดในโลก ลางสาดก็อร่อยที่สุดในโลก” คุณลุงไฉไลพูดด้วยสีหน้ายิ้ม ๆ แต่มีท่าทางจริงจัง

เมื่อลองชิมดูแล้ว ถึงแม้ว่าเรายังไม่เคยทานผลไม้มาหมดแล้วทั้งโลก แต่ก็เชื่อว่าที่เป็นผลไม้ที่อร่อยที่สุดเท่าที่เคยทานมาจริง ๆ ท่าทางเอร็ดอร่อยของทุกคนเป็นคำถาม ให้ลุงไฉไลตอบ เงาะ มังคุด ลางสาด ทั้งหมดนี้ปลูกเองในชุมชนจึงเชื่อได้ว่าปลอดสารพิษ แล้วได้รับการเลี้ยงดูทะนุถนอมเติบโตมาด้วยความสุข สุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง เพราะฉะนั้นผู้บริโภคที่ทานเข้าไปก็ต้องมีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรงเช่นกัน ไม่ได้ทานสารเคมีครึ่งหนึ่ง ผลไม้ครึ่งหนึ่งอย่างที่ขายกันในบางเขตเมือง

ลุงไฉไลเซียนทุเรียนแห่งบ้านจำรุง


สวนทุเรียนที่กำลังออกลูกเต็มต้น แม้ว่าลูกจะไม่ใหญ่นักแต่ก็ชวนให้คนเดินผ่านไปมาต้องระวังทุเรียนตกใส่ ชาวบ้านชุมชนบ้านจำรุงบอกว่าต้องตัดทุเรียนออกบ้างเพื่อให้มีผลใหญ่และติดต้น และต้นแม่ก็จะไม่สลัดลูกตกลงมา ทุเรียนที่ยังไม่สุกพวกนี้ก็จะนำไปแปรรูปเป็นของอร่อยอีกอย่างหนึ่ง ผู้ใหญ่บอกว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่บ้านจำรุงไม่มีสูญเปล่า ทุกอย่างต้องมีกิจกรรมหรือกระบวนการต่อไปรองรับ เพื่อให้การใช้ทรัพยากรในชุมชนเกิดประโยชน์สูงสุด ทุเรียนดิบก็นำไปแปรรูปเป็นอย่างอื่น ขนุนอ่อนที่ถูกปลิดออกเช่นกันก็นำไปใช้เลี้ยงวัว แม้แต่ขยะในชุมชนก็ยังไม่มีการทิ้งให้สูญเปล่าไปไหน เพราะในบ้านจำรุงมีกิจกรรมหมุนเวียนทรัพยากรในชุมชนไม่ว่าจะเป็น รีไซเคิล รียูส หรือรีเมคก็ตามอยู่ตลอดเวลา

คุณลุงไฉไลขอเวลาเราสักครู่ บอกว่ามีอะไรจะให้ดู คุณลุงพาเราเดินไปสถานที่หนึ่ง ที่แค่เดินเข้าไปใกล้ยังไม่เห็นอะไรก็ได้กลิ่นคุ้นเคยลอยโชยมาจาง ๆ เมื่อภาพนั้นชัดเจนขึ้น ทุเรียนลูกใหญ่เป็นพันลูกกองอยู่ตรงหน้า คุณลุงไฉไลบอกว่าเป็นทุเรียนเกรดเอมีค่ามหาศาลกำลังรอคนมารับซื้อแล้วส่งไปขายอเมริกา คิดคำนวณเงินแล้วเป็นมูลค่ามหาศาลจริง ๆ จากนั้นคุณลุงสอนวิธีเลือกทุเรียนเนื้อดีให้เรา แต่ถ้าวิธีไหนก็ตัดสินไม่ได้สักทีก็ให้ใช้วิธีสุดท้ายคือเดา คุณลุงไฉไลบอกว่าถ้าเข้าใจทุเรียนก็จะเข้าใจชีวิต ชาวสวนต้องปลิดทุเรียนออกก็เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีที่สุด ถ้าโลภมากก็จะไม่ได้ดีสักลูก ทั้งยังเป็นอันตรายอีก เปลือกทุเรียนหนา ๆ ข้างในมีเนื้ออร่อยรออยู่ แต่กว่าจะได้กินก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก อย่างน้อยก็ต้องออกแรงสักหน่อย นั่นก็คือการดำเนินชีวิตตามทางสายกลาง ความไม่ประมาท ความพยายาม ความขยันและอดทน ซึ่งหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงก็คงไม่ต่างจากสิ่งที่คุณลุงไฉไลบอกเรานัก ในบ้านของคุณลุงไฉไลมีภาพทุเรียนหลากหลายพันธ์หลากชนิด ทุเรียนพันธ์แปลก ๆ ก็มี อย่างเช่น ทุเรียนงวงช้าง ที่มีงวงงอกออกจากลูกคล้ายงวงช้างจริง ๆ ลุงไฉไลบอกเราว่าตรงงวงมันมีเนื้อกินได้ด้วย รูปทุเรียนที่แขวนอยู่ที่ผนังทำให้รับรู้ได้ถึงความรักที่ชาวสวนมีต่อผลผลิตของตนเอง เพียงแต่ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือความต้องการความสะดวกสบายทำให้ชาวสวนบางคนเลือกที่จะใช้สารเคมีกับผลผลิตของตนเอง แต่เมื่อชาวสวนบ้านจำรุงเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ มีโครงการเกษตรชีวภาพในชุมชนเพื่อ ลด ละ เลิกการใช้สารเคมี เปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และน้ำหมักชีวภาพจากแกลบ (แกลบที่เหลือจากการผลิตข้าวซ้อมมือของกลุ่มผู้สูงอายุ) หรือขี้แพะ (จากชาวบ้านที่เลี้ยงแพะ) ขยะเปียก และทรัพยากรชีวภาพอื่น ๆ จากธนาคารขยะเพื่อคืนชีวิตให้แผ่นดิน คืนความรักให้พืชผล แล้วสิ่งที่ได้กลับคืนมาก็คือชาวสวนในชุมชนได้ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มคุณภาพให้ผลผลิต ใช้ทรัพยากรในชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด และที่สำคัญที่สุดคือเราได้กินผลไม้ที่ปลอดสารเคมีและอร่อยที่สุดในโลก

ชาวสวนยางผู้รักสงบ


เช้ามืดวันที่เราจะไปดูการกรีดยางของคุณลุงสำเริง ทุกคนพยายามลุกขึ้นจากที่นอนให้ได้ เมื่อเห็นความกระฉับกระเฉงของคุณลุงสำเริงกับผู้ใหญ่ชาติชายแล้ว ไม่ว่าจะง่วงเพียงไร ก็ต้องไปดูการกรีดยางให้ได้ นอกจากด้วยความนับถือความเป็นมืออาชีพของชาวสวนยางแล้ว ก็ด้วยเหตุผลว่านี่เป็นครั้งแรกแลละอาจเป็นครั้งสุดท้ายที่ชาวเมืองอย่างเราจะได้วิธีการกรีดยางใกล้ๆ เช่นนี้ ผู้ใหญ่บ้านบอกว่า

“ชาวสวนยางเป็นพวกรักสงบ เพราะเราต้องตื่นมาตั้งแต่ตีสอง ตีสาม เพื่อกรีดยาง
จะไปทะเลาะอะไรกับใครเข้าก็ไม่ได้ อันตราย แล้วก็ต้องขยันด้วย ถ้าตื่นสายกว่านั้นน้ำยางจะหมด”
หลังจากแนะนำเครื่องแบบที่ต้องใส่ในการกรีดยางแล้ว คุณลุงสำเริงก็เริ่มกรีดให้ดู น้ำขาวๆ ขุ่นๆ ไหลลงมาที่กะลาที่ผูกไว้กลางลำต้นเพื่อรองรับน้ำยา น้ำยางเหล่านี้จะกลายเป็นขี้ยางที่กลิ่นเหม็นพอควร แล้วถูกส่งไปให้กลุ่มยางพาราในชุมชน เพื่อรวมกันขาย ผู้ใหญ่บ้านเคยเล่าให้ฟังว่ายางพาราพวกนี้เอาไปแปรรูปทำอะไรได้หลายอย่าง แต่คนในชุมชนก็ยังต้องซื้อสินค้าแปรรูปพวกนั้นมาอีกที ผู้ใหญ่ชาติชายหวังไว้ว่าสักวันหนึ่งชุมชนบ้านจำรุงน่าจะผลิตรองเท้ายางใส่เองได้ ชุมชนบ้านจำรุงต้องพึ่งตนเองได้จากสิ่งที่ตนเองมี แล้วใช้ทรัพยากรนั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด หลังจากที่เราทำความรู้จักกับชุมชนนี้และเรียนรู้ในหลายๆ กิจกรรมกลุ่มในชุมชน เราเชื่อว่าบ้านจำรุงจะพึ่งตนเองได้อย่างเป็นอิสระแท้จริง ด้วยทุนทางสังคมและวัฒนธรรมที่มี และมีรองเท้ายางที่ผลิตเพื่อใส่เองได้ในสักวันหนึ่

ตะพาบน้ำกับแก้วมังกร

คุณลุงสุทัศน์ รัตนวิจิตร เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้เลี้ยงตะพาบน้ำ (ชุมชนบ้านจำรุงมีหลายครอบครัวเลี้ยงตะพาบน้ำเป็นสัตว์เศรษฐกิจอย่างหนึ่งประจำชุมชน) และปลูกแก้วมังกรไว้ในสวน จากประสบการณ์ที่เราได้จากคุณลุงไฉไล เราก็คาดเดาไว้ก่อนว่า แก้วมังกรของคุณลุงสุทัศน์จะอร่อยที่สุดในโลกเหมือนกัน ต้นแก้วมังกรที่มองเผิน ๆ เหมือนเด็กหนุ่มผมทรงเด็ดร็อค (Dead Rock) หรือเร็กเก้ (Reggae) กำลังเต้นระบำ สร้างความสนใจให้คนเมืองที่เคยเห็นแต่ผลแก้วมังกรเป็นอย่างยิ่ง แก้วมังกรที่บ้านจำรุงของคุณลุงสุทัศน์ก็ไม่ได้ใช้สารเคมีเช่นกัน คุณลุงพาเราเดินเข้าไปในสวนแหวกใบยาว ๆ ระเกะระกะของต้นแก้วมังกรเข้าไป เพื่อหาผลแก้วมังกรที่สุกแล้ว เก็บมาให้เราลองทานกันสด ๆ แล้วคำพูดประโยคนั้นก็ผ่านเข้ามาในความคิด ผลไม้ที่อร่อยที่สุดในโลก คุณลุงสุทัศน์พูดคล้ายคุณลุงไฉไลว่าเมื่อไม่มีสารเคมีก็ต้องอร่อยที่สุดในโลก ผลไม้ที่นี่ไม่แพ้ที่ไหน เพียงแค่ผู้บริโภครับประทานด้วยความสะบายใจว่าปลอดสารเคมี ผลไม้นั้น ๆ ก็เริ่มอร่อยแล้ว ยิ่งคนปลูกดูแลด้วยความรักมากเท่าไร ผลผลิตก็ยิ่งมีคุณภาพมากเท่านั้น การไม่ใช้สารเคมีก็เป็นการแสดงความรักความห่วงใยต่อทุกสรรพชีวิตที่อยู่ร่วมกันในชุมชน เอื้อประโยชน์ร่วมกันไม่เบียดเบียนแม้กระทั่งพื้นดินที่ชุมชนอาศัยอยู่ สรรพชีวิตอยู่ได้ ชาวบ้านอยู่เย็น ชุมชนก็เป็นสุข

ผักพื้นบ้าน สมุนไพรพื้นเมือง



เมื่อชุมชนบ้านจำรุงรณรงค์ให้มีการรับประทานผักพื้นบ้านตามฤดูกาลที่เคยมีมาแต่เก่าก่อนกันมากยิ่งขึ้น ผักพื้นบ้านของบ้านจำรุงก็กลายเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของชุมชน ทุกคนที่มาบ้านจำรุงต้องได้ทดลองทานผักที่ไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยินชื่อกันไปบ้าง 1 – 2 ชนิด โดยในชุมชนจะมีกลุ่มเกษตรพื้นบ้านคอยรับผักจากสมาชิกผู้ผลิตในชุมชนผ่านคุณป้าหน่วง สำนักวิชา พนักงานขายร่างใหญ่ อารมณ์ดี เพื่อกระจายผักปลอดสารพิษไปให้ทุกคนในชุมชนได้รับประทานกัน คุณป้าเล่าว่าทุกวันจะตระเวนไปรับผักจากบ้านหลายหลังในชุมชนที่มีการปลูกผักพื้นบ้าน ใครมีผักชนิดไหนก็เอามาขายแลกเปลี่ยนผักชนิดอื่นของบ้านอื่นไป โดยเฉพาะผักขม ผักหวาน ข่าแดงจะขึ้นอยู่มากมายในชุมชน และมีปลูกกันหลายครอบครัว ทั้งยังยิ่งเก็บมาทาน ก็ยิ่งมีมากขึ้น ชาวบ้านในชุมชนมีผักให้ทานมากมายหลายชนิดในราคาย่อมเยา ลดรายจ่ายจากผักในเมือง ลดสารเคมีในสิ่งแวดล้อมในชุมชน และเพิ่มสุขภาพที่ดีของทุกคน

คุณยายอุทัย รัตนพงษ์ นักจัดรายการวิทยุชุมชนรายการเกษตรพื้นบ้าน กลุ่มเกษตรพื้นบ้าน ร้องเพลงเปิดประจำรายการที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่พอเพียงและเป็นอิสระจากสังคมทุนนิยม บริโภคนิยมให้เราฟังว่า
“พริก มะเขือ ขิงข่า ตะไคร้ เราไม่ควรไปซื้อที่ตลาด
ปลูกให้งามยามเมื่อขาด วิ่งปราดไปในสวนครัว
เลือกเก็บเอาตามชอบใจ จะกินเมื่อไรก็ไม่ต้องกลัว
เรามีผักสวนครัวไม่ต้องกลัวอดกิน”

นวัตกรรมส้มตำแห่งบ้านจำรุง


ผักพื้นบ้านตามฤดูกาลหลากหลายชนิดที่บ้านจำรุงไม่ได้มีไว้กินกับน้ำพริกเท่านั้น แต่เราพบว่าใบบัวบก ข่าแดงอ่อน หัวปลี ผักขม ผักหวาน ฯลฯ หรือแม้แต่ดอกอัญชัญก็นำมากินคู่กับส้มตำได้ด้วย ที่ร้านส้มตำจำรุง นอกจากจะได้แปลกใจกับผักพื้นบ้านหลากหลายชนิดที่คุณน้าทำเนยบ รัตนพงษ์ เจ้าของร้านส้มตำคนงาม นำมาบริการแล้ว เรายังพบว่าผลไม้ที่อร่อยที่สุดในโลกของคุณลุงไฉไลและชาวสวนบ้านจำรุง ถูกนำมาคลุกเคล้าเป็นส้มตำนวัตกรรมใหม่อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ส้มตำทุเรียน ส้มตำแก้วมังกร ส้มตำกระท้อน ส้มตำองุ่น ส้มตำมะอึก และอีกสารพัดส้มตำจากพืชผลที่อร่อยที่สุดในโลกที่นำมาทานร่วมกับผักพื้นบ้านปลอดสารพิษในชุมชน ร้านส้มตำจำรุงเป็นอีกปลายทางหนึ่งของผลผลิตจากกิจกรรมชุมชน พืชผลและผักพื้นบ้านปลอดสารพิษนั้นก็ได้มาจากเกษตรกรในชุมชน และกลุ่มเกษตรพื้นบ้าน ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ก็ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ ซึ่งส่วนหนึ่งได้มาจากขยะอินทรีย์ชีวภาพในชุมชน นี่เป็นวงจรการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าวงจรเล็กๆ วงจรหนึ่งในชุมชน ที่ชุมชนนี้ไม่มีสิ่งใดสูญเปล่า ทุกกระบวนการซ้อนอยู่ภายใต้ระบบวงจรการผลิตและบริโภคอย่างพอเพียงภายในชุมชน
แต่ทว่ากว่าบ้านจำรุงจะมีผลไม้ได้คุณภาพและผักพื้นบ้านปลอดสารมากมายหลายชนิด บ้านจำรุงก็เป็นเช่นเดียวกับอีกหลายชุมชนที่เคยผ่านยุคสมัยของการใช้สารเคมีแทนน้ำ เพื่อเพิ่มผลผลิต จนกระทั่งเกิดสารเคมีตกค้างในดินจำนวนมาก สร้างปัญหาให้กับดินที่เคยมีสภาพอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกแห่งนี้เป็นอย่างยิ่ง

เรื่องเล่าชุมชน

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของชุมชน
การใช้สารเคมีในสวนผลไม้ จากการเก็บข้อมูลครัวเรือนในปี พ.ศ. 2543 ชาวบ้านจำรุงพบว่าการทำเกษตรกรรมในชุมชนมีการใช้สารเคมีกันอย่างรุนแรง นอกจากจะตกค้างปะปนอยู่ในผลผลิตที่ได้ อยู่ในผืนดินที่อาศัยแล้ว สารเคมีเหล่านั้นก็ยังเข้ามาปะปนอยู่กระแสเลือดของทุกคนในชุมชนอีกด้วย ชุมชนบ้านจำรุงจึงสร้างกิจกรรมที่จะช่วยรณรงค์ให้ชาวบ้านตระหนักถึงความสำคัญของการลดการใช้สารเคมีกับพืชผลทางการเกษตร มีการจัดตั้งกลุ่มเกษตรพื้นบ้าน ทำโครงการเกษตรชีวภาพ โครงการผักพื้นบ้านปลอดสารพิษ สนับสนุนให้ชุมชนใช้ปุ๋ยอินทรีย์และน้ำหมักชีวภาพแทน เพื่อชำระล้างสารเคมีตั้งแต่จุดเริ่มต้นของวงจรการผลิตและบริโภคในชุมชน ผู้ใหญ่บ้านเล่าว่าโรคภูมิแพ้ที่เป็นกันมากในหมู่คนเมือง เริ่มแพร่กระจายเข้ามาถึงเขตชุมชนนอกเมือง ส่วนหนึ่งนั่นก็เพราะอาหารที่เราทานเข้าไป อากาศที่เราหายใจมีแต่สารเคมีปนเปื้อนเป็นจำนวนมาก โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่ทำให้ร่างกายของเราทำงานได้น้อยลง ท่องเที่ยวได้น้อยลง และมีความสุขน้อยลง จากที่ชุมชนเริ่มทำร้ายผืนแผ่นดินด้วยสารเคมี ชุมชนก็จะอยู่ไม่ได้ด้วย ความสมดุลจากธรรมชาติเป็นเพียงสิ่งเดียวที่ทำให้ชุมชนและธรรมชาติอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและยั่งยืน ตอนนี้ชาวบ้านจำรุงตระหนักในความเป็นหนึ่งเดียวกันของสรรพสิ่งมากขึ้น แม้ว่าการใช้สารเคมีอาจจะยังไม่หมดสิ้นไปจากชุมชน แต่อย่างน้อยที่สุดชาวบ้านก็พยายามจะให้เหลือน้อยที่สุด และตั้งความหวังว่าทั้งชุมชนจะเลิกใช้โดยสิ้นเชิงในวันข้างหน้า


ชุมชนจะพัฒนาได้อย่างไร ถ้าไม่เริ่มด้วยตนเอง
ชาวบ้านจำรุงคิดแก้ปัญหาต่าง ๆ ด้วยตนเองอยู่ตลอดมา ไม่ว่าจะมีปัญหาใดก็ต้องร่วมกันคิดร่วมกันแก้ ส่วนใหญ่เมื่อเกิดปัญหา ก็เกิดปัญญา แล้วการตั้งกลุ่มกิจกรรมต่างๆ เพื่อแก้ปัญหานั้นก็จะตามมา ซึ่งเราจะเห็นได้ต่อไปจากการเข้าไปศึกษาในแต่ละกลุ่มกิจกรรมว่าทุกกลุ่มกิจกรรมในบ้านจำรุงเกิดขึ้นจากการปัญหา และการแก้ไขปัญหาด้วยปัญญาด้วยเหตุและผล ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2529 จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของชุมชนบ้านจำรุงเริ่มจากแนวคิดที่ต้องการจะมีเงินทุนเพื่อเป็นกองกลางในการพัฒนาหมู่บ้าน กองทุนที่เป็นของชุมชนอย่างแท้จริง เพื่อการบริหารจัดการชุมชนด้วยการพึ่งตนเอง คุณหมอบานเย็น ดีนาน เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยบ้านจำรุงจึงได้พาคณะกรรมการหมู่บ้านไปศึกษาดูงานกองทุนหมู่บ้านตามที่ต่าง ๆ แล้วจึงกลับมาประชุมปรึกษากันในชุมชนว่าบ้านจำรุงจะมีกองทุนพัฒนาหมู่บ้านขึ้นมาในลักษณะใด เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพชุมชนและความต้องการของชาวบ้านในชุมชน การระดมทุนครั้งแรกจึงเกิดขึ้นในลักษณะการระดมหุ้นเพื่อจัดตั้งร้านค้าชุมชนขึ้น โดยขอความร่วมมือจากชาวบ้านให้ช่วยกันซื้อหุ้นอย่างน้อยหลังคาเรือนละหนึ่งหุ้น ราคา 50 บาท เพื่อนำเงินมาเป็นทุนในการจัดตั้งร้านค้าชุมชน ให้ชุมชนได้มีแหล่งกระจายสินค้าของชุมชน กำไรจากการขายสินค้าเหล่านั้นก็จะกลับคืนสู่ชุมชนเป็นกองทุนพัฒนาหมู่บ้าน และเงินปันผลให้กับสมาชิกที่ซื้อสินค้าในรูปแบบสหกรณ์ชุมชน จากจุดเริ่มต้นในร้านค้าเล็ก ๆ แห่งนี้กลายเป็นต้นทางให้เกิดกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชน ด้วยความร่วมมือร่วมใจกันของชาวบ้านในชุมชนอีกมากมาย

วันพุธที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ผักพื้นบ้าน




ผักพื้นบ้าน
ทำให้ดูอยู่ให้เห็นเป็นให้สัมผัส
ผักพื้นบ้านของดีที่บ้านจำรุง จังหวัดระยองถามว่าวันนี้คุณรู้จักผักที่คุณกินหรือไม่ และมันมีกี่ชนิด คงได้รับคำตอบที่ไม่ต่างกันมากนัก ไล่เรียงกันไป ๆ มา ๆ คงได้ซักสิบชนิด คะน้า หอม ผักชี ถั่วงอก กวางตุ้ง กะหล่ำ ผักบุ้ง ถ้ามากกว่านี้ต้องนึกนานหน่อยและถ้าถามต่อไปว่ารู้จักผักพื้นบ้านบ้างหรือไม่ คงได้รับคำตอบที่คล้าย กันว่ารู้จักเมื่อสมัยเด็ก ๆ ซึ่งทุกวันนี้อาจจะมีให้เห็นบ้าง แต่กว่าเรียกชื่อก็ต้องนึกกันนาน เรื่องได้กินคงไม่ต้องพูดถึง สำหรับคนในเมืองที่มีวิถีชีวิตที่เร่งรีบและต้องรับประทานอาหารถุง แม้แต่คนบ้านนอกอย่างผมเองก็เหมือนกัน ก็ไม่ต่างจากที่ว่ามานักย้อนกลับไปเมื่อสมัยที่ผมเป็นเด็ก ๆ อาหารหลักของผม คือผักพื้นบ้าน ผักขมผัดน้ำมัน ผักหวานต้มจิ้มน้ำพริก ผักบุ้งนา ตำลึง กะถิน กินกันดิบ ๆ ได้รสชาติดีนัก แกงส้มใบมะขาม ยังจำได้ว่าแม่ผมชอบกินผักเสี้ยนดอง ผักกุ่มจิ้มน้ำพริก ใบแต้ว ใบเสม็ดแดง ฯลฯ ใครจะนึกว่าผักพื้นบ้านปลอดสารเคมี ที่มีอย่างอุดมสมบูรณ์ในท้องถิ่นจะค่อย ๆ หมดคุณค่า ไปโดยที่เราเองก็ไม่รู้ตัว เมื่อในสำรับกับข้าวของเราถูกแทนที่ด้วยผักในเมือง ผักจากต่างถิ่นที่บางครั้งเราเองไม่รู้จัก ไม่อยากโทษใครให้เจ็บกระดองใจ รู้แต่ว่าวันนี้ คนส่วนใหญ่แทบไม่รู้จักผักพื้นบ้านพื้นเมืองกันแล้ว หรือรู้จักก็แทบไม่ได้นำมากิน ด้วยเหตุปัจจัยต่าง ๆ นานา บ้านจำรุง ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้เมื่อประมาณปี 2543 เมื่อเราได้ช่วยมีการเก็บข้อมูลครัวเรือน แล้วพบว่าเราซึ่งเป็นชุมชนล็ก ๆ 150 ครัวเรือน มีการใช้สารเคมีกันอย่างรุนแรง มีสารเคมีตกค้างในเลือดของพวกเรา โรคภัยไข้เจ็บเข้ามาหาเราโดยที่เราไม่สามารถดูแลตัวเองได้ โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่เราได้ยินบ่อยขึ้นเรานำเรื่องนี้มาหารือกัน แล้วพบว่าทั้งหลายทั้งปวงนั้นมาจากที่วิถีชีวิตเราเปลี่ยนไป วิถีการกินที่เป็นไปตามค่านิยมสมัยใหม่ เราละเลยอาหารในท้องถิ่นที่มีคุณค่า เมื่อพบต้นตอของปัญหา เราเริ่มจัดระบบการกิน วิถีชีวิตใหม่ร่วมกัน โดยมีการจัดตั้งกลุ่มเกษตรพื้นบ้าน นำผักพื้นบ้านมาฟื้นฟูร่วมกัน ใช้สมาชิกกลุ่มเกษตรพื้นบ้านเป็นหลักในการผลิต ผักพื้นบ้านปลอดสารเคมีสู่ชุมชน ผ่านพนักงานขายของกลุ่ม มีการรณรงค์สร้างค่านิยม ผ่านสื่อวิทยุชุมชนบ้านจำรุง ซึ่งเป็นสื่อของเราเอง เรามีร้านส้มตำจำรุง ที่รับผักพื้นบ้าน ของกลุ่มไปกินกับส้มตำ ผู้คนที่มาร่วมเรียนรู้ในวิถีชุมชนบ้านจำรุง มาพักโฮมเสตย์ เราจัดอาหารพื้นบ้านรับรองเป็นอาหารหลัก ผู้คนในชุมชนหันมานิยมกินผักพื้นบ้านเพิ่มขึ้นซึ่งหลังจากที่เราช่วยกันทำแบบนี้มาตั้งแต่ปี 2543 เริ่มส่งผลเป็นที่ยอมรับในทุกระดับ ผู้ผลิตได้ผลิตผักพื้นบ้านปลอดสารเคมีอย่างมีความสุข เพราะไม่ต้องกังวลกับเรื่องราคาสารเคมีแพง สุขภาพดีขึ้นทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ ผู้บริโภคได้กินผักพื้นบ้านตามฤดูกาลส่งผลดีต่อสุขภาพ ภาวะอยู่เย็นเป็นสุขเริ่มเกิดขึ้นเรานำดอกอัญชันมาแปรรูปเป็นน้ำดอกอัญชันสีสวย ต้อนรับนักเดินทาง ในปีนี้เราเตรียมพื้นที่ ที่เอื้อต่อการเกิดผักพื้นบ้านชายน้ำ ตลอดแนวลำรางสาธารณะ 1,200 เมตร เพื่อที่จะให้ชุมชนได้มีผักพื้นบ้านกินอย่างหลากหลายเพิ่มขึ้นและลดรายจ่ายของครอบครัว 1 ปีที่ผ่านมา นักเดินทางที่มาบ้านจำรุงได้กินผักพื้นบ้านปลอดสารเคมีและนำแนวคิดไปบอกต่อกันเองมากกว่า 1,000 คน ที่สำคัญชุมชนได้เห็นคุณค่าของผักพื้นบ้านมากขึ้นเรื่อย ๆ สำรับกับข้าวของเรามีผักเมืองน้อยลง สุขภาพชุมชนดีขึ้น อากาศบริสุทธิ์ขึ้นเพราะใช้สารเคมีน้อยลงผมเองรู้จักผักพื้นบ้านเพิ่มขึ้น รู้ว่าเมื่อนำผักหวานมายำ ให้รสชาติที่ไม่แพ้ยำถั่วพู รู้ว่าหมูต้มชะมวง เมื่อเรากลัวอ้วนกินแต่ใบชะมวงรสชาติแปลกไปอีกอย่าง ยังมีผักที่กินกับน้ำพริกที่กินสด ๆ นั้นให้ความรู้สึกของการเป็นไทย ๆ ได้ดีเหลือเกิน เช่นดอกอัญชัน ผักแว่น ยอดมันสัมปะหลัง หัวปลี ใบบัวบก ผักบุ้งนา หัวไพล ถั่วพู ตำลึง ชะอม ผักหวาน ผักขม หน่อข่า กระชาย ฯลฯอยากชวนทุกท่านหันมาดูแลรักษาผักพื้นบ้านรอบ ๆ ตัว รอบ ๆ บ้าน แล้วช่วยกันรดน้ำ ใส่ปุ๋ย (ปุ๋ยอินทรีย์นะครับ) ท่านจะมีความสุข เพลิดเพลินไปอีกแบบอยากชวนทุกท่านทำสวนครัวร่วมกัน เหมือนบทเพลงที่กลุ่มเกษตรพื้นบ้านนำไปร้องนำในรายการวิทยุบ้านจำรุง ซึ่งเมื่อฟังแล้วอยากทำสวนครัวขึ้นมาทันที มีเนื้อร้องดังนี้ พริก มะเขือ ขิง ข่า ตะไคร้ เราไม่ควรจะไปซื้อที่ตลาด ปลูกให้งามยามเมื่อขาด วิ่งปราดไปในสวนครัว เลือกเก็บเอาตามชอบใจจะกินเมื่อไร ก็ไม่ต้องกลัวจะกินแกงเผ็ด ผัดเห็ดแกงคั่ว เรามีผักสวนครัวไม่ต้องกลัวอดกินเช้า เช้า ไปทำงานเย็นกลับมาบ้านพรวนดินล้อมรั้วด้วยผักกะถิน ล้อมรั้วด้วยผักกะถิน ถั่วพูน่ากินปลูกไว้ข้าง ๆยกร่องหอมกระเทียม ไม่ต้องตระเตรียมให้หมดสตางค์เหลือจากกินใช้ขายไปเสียบ้าง ยังได้สตางค์มาสร้างครอบครัวฟักแฟงแตงกวา โหระพา ราคานิดหน่อยซื้อกินบ่อย ๆ นิดนิด หน่อยหน่อยไม่คอยรู้ตัวพอถึงหนึ่งปี คิดบัญชีเงินมันรั่วถ้าทำสวนครัว ก็เหลือเงินเป็นร้อย ร้อย มันน้อยเมื่อไร มันน้อยเมื่อไรวันนี้ เชิญชวนทุกท่านที่สนใจเรื่องราวของผักพื้นบ้าน แวะมาสนทนาวิสาสะ มากินผักพื้นบ้านตามฤดูกาลกันได้


ที่บ้านจำรุง ตำบลเนินฆ้อ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง สอบถามเพิ่มเติมได้ที่


โทรศัพท์ 07-8178030ชาติชาย เหลืองเจริญ / บ้านจำรุง